“ระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ หรือ GIN ที่กระทรวงไอซีทีกำกับดูแลนี้ เป็นเครือข่ายที่ให้บริการการสื่อสารข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ระบบเครือข่ายและข้อมูลที่สื่อสารภายในเครือข่าย จึงจำเป็นต้องได้รับการปกป้องความเสี่ยงจากการเกิดอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ เช่น การโจรกรรมข้อมูล การดัดแปลงหรือปลอมแปลงข้อมูล การแพร่ของหนอนและไวรัสคอมพิวเตอร์ การบุกรุกและโจมตีระบบเครือข่าย ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาลแก่ผู้ใช้งานของหน่วยงานภาครัฐและกระทรวงไอซีที
ดังนั้น เพื่อให้ปลอดภัยจากอาชญากรรมดังกล่าว จึงต้องมีการตรวจสอบ ประเมิน และดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยบนระบบเครือข่าย อันเป็นการสร้างมาตรฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยที่ดีในการบริหารจัดการระบบ และเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยของการใช้งานเครือข่าย” นายอังสุมาล กล่าว
สำหรับการดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพฯ นี้จะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 6 เดือน โดยเริ่มจากการตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของเครือข่าย GIN ในส่วนของการออกแบบเครือข่ายจำนวน 2 โครงข่าย จากนั้นตรวจสอบการกำหนดค่าความมั่นคงปลอดภัยของอุปกรณ์เครือข่ายจากหน่วยงานรัฐที่อยู่ในระบบเครือข่าย GIN จำนวน 100 หน่วยงาน ขั้นต่อมาเป็นการตรวจหาช่องโหว่ทางด้านความมั่นคงปลอดภัยของอุปกรณ์เครือข่าย เพื่อดำเนินการแก้ไขปรับปรุงจุดอ่อนหรือช่องโหว่เหล่านั้น โดยจัดทำเป็นแนวทางแก้ไขปรับปรุงเพื่อลดความเสี่ยงของเครือข่าย GIN จากนั้นจึงจัดทำกรอบนโยบายและแผนปฏิบัติการเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยเครือข่าย พร้อมฝึกอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจเบื้องต้นของระบบ/เครื่องมือด้านความมั่นคงปลอดภัยของเครือข่าย
“โครงการฯ นี้ จะช่วยทำให้เครือข่าย GIN ใสสะอาด มีความปลอดภัยจากอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ โดยจะดูแลข้อมูลทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในช่องทางเครือข่าย ซึ่งเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ และความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้งานเพิ่มมากยิ่งขึ้น” นายอังสุมาล กล่าว
ส่วนการดำเนินการเชื่อมโยงเครือข่าย GIN นั้น ในปีงบประมาณ 2549 กระทรวงฯ ได้ดำเนินการเชื่อมโยงเครือข่ายในส่วนกลางระดับกระทรวง กรมไปแล้ว จำนวน 274 หน่วยงาน ต่อมาในปีงบประมาณ 2550 และ 2551 ได้ดำเนินการเชื่อมโยงเครือข่ายสื่อสารข้อมูลภาครัฐไปยังส่วนภูมิภาคครบ 72 จังหวัด รวม 432 หน่วยงาน