ดร.ประกอบ จิรกิติ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการแก้ไขปัญหาป้ายโฆษณาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า การก่อสร้างป้ายโฆษณาสามารถก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะป้ายผิดกฎหมายไม่ได้รับอนุญาตมักจะก่อสร้างในวันหยุดราชการ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้กวดขัน ตรวจสอบป้ายโฆษณาที่ก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือก่อสร้างผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุญาต และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทุกราย ส่วนป้ายผิดกฎหมายทั้งหมดอยู่ระหว่างรื้อถอนของสำนักงานเขต
ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาป้ายโฆษณาของกรุงเทพมหานครได้เสนอให้ออกกฎกระทรวง เรื่อง ป้ายโดยเฉพาะ โดยเพิ่มแรงลมในการออกแบบโครงสร้างอาคารประเภทป้าย ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงมหาดไทย ประกอบกับขณะนี้ได้มีกฎกระทรวง เรื่อง การตรวจสอบอาคาร ซึ่งป้ายเป็นอาคารประเภทหนึ่งที่เจ้าของป้ายจะต้องจัดให้มีการตรวจสอบด้านความมั่นคงแข็งแรง ทำให้อาคารประเภทป้ายต้องมีการตรวจสอบทุกปี นอกจากนั้นป้ายที่ฝ่าฝืนกฎหมาย กทม. ก็ได้มีการดำเนินคดีและออกคำสั่งต่างๆ ตามกฎหมายควบคุมอาคาร รวมทั้งคำสั่งห้ามใช้ป้าย ซึ่งการห้ามใช้ป้ายนั้นจะห้ามผู้ลงโฆษณาด้วย โดยหากยังฝ่าฝืนลงโฆษณาบนป้ายที่ผิดกฎหมาย ผู้ลงโฆษณาก็จะมีความผิดตามกฎหมายควบคุมอาคารเช่นกัน ซึ่งความผิดตามมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ฝ่าฝืนยังต้องโทษปรับอีกวันละไม่เกินสามหมื่นบาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป
อีกทั้งในระยะนี้มีพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกรรโชกแรง อาจทำให้ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่สร้างผิดแบบหรือไม่ได้มาตรฐานล้มทับบ้านเรือน สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงขอให้ผู้ที่จะลงโฆษณาบนป้ายต่างๆ ตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเป็นป้ายที่ขออนุญาตและก่อสร้างตามแบบที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของป้ายด้วย
ด้าน นายทรงศักดิ์ นุชประยูร ผู้อำนวยการกองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา กทม. แจ้งว่า ข้อมูลป้ายที่สำนักงานเขตจะดำเนินการรื้อถอนข้อมูล ณ วันที่ 27 พ.ค. 52 มีจำนวน 272 ป้าย ในจำนวนนี้รื้อถอนแล้ว 154 ป้าย อยู่ระหว่างรื้อถอน 107 ป้าย ที่เหลือได้รับ การยืนยันว่าสร้างก่อนปี พ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นป้ายที่ไม่ต้องขออนุญาต ถือว่าถูกต้องตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ปี พ.ศ. 2522 จำนวน 11 ป้าย นอกจากนั้นจากการรายงานของสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ข้อมูล ณ วันที่เดียวกัน มีจำนวนป้ายโฆษณาในพื้นที่ทั้งหมด 1,032 ป้าย ในจำนวนนี้ถูกต้องตามกฎหมาย 836 ป้าย ก่อสร้างผิดแบบที่ขออนุญาต 36 ป้าย และก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตอีก 160 ป้าย