นพ.ไกรจักร แก้วนิล รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดประชุมวิชาการทางการแพทย์ฉุกเฉินแก่บุคลากรในสังกัด และเครือข่ายร่วมปฏิบัติการในกรุงเทพมหานคร จำนวน 120 คน โดยมี นายแพทย์พีระพงษ์ สายเชื้อ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ ร่วมพิธี ณ ห้องประชุม ชั้น 20 อาคารอนุสรณ์ 100 ปี โรงพยาบาลกลาง
สำนักการแพทย์ โดยศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) จัดประชุมวิชาการทางการแพทย์ฉุกเฉินประจำปี 2552 แก่ข้าราชการระดับ 4—7 และลูกจ้างในสังกัดสำนักการแพทย์ กทม. จำนวน 32 คน และบุคลากรของโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน หน่วยงานเครือข่ายในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินทั้งภาครัฐและเอกชน 52 แห่ง จำนวน 88 คน อาทิ โรงพยาบาลหัวเฉียว โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลรามาธิบดี มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มูลนิธิร่วมกตัญญู ศูนย์พิรุณ เป็นต้น รวมผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 120 คนเพื่อให้บุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินเกิดองค์ความรู้และนำไปสู่การพัฒนาการปฏิบัติงานและประสานเหตุในระบบ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มวิชาการและผู้ปฏิบัติงาน มีองค์กรเครือข่ายที่เข้มแข็ง สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในการให้บริการการช่วยเหลือแก่ผู้เจ็บป่วย ณ จุดเกิดเหตุและช่วยเหลือผู้ป่วยที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้หัวข้อการประชุมวิชาการทางการแพทย์ฉุกเฉิน ประกอบด้วย ทิศทางการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทย : ก้าวต่อไปของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ประสบการณ์การให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน การพิสูจน์หลักฐานในที่เกิดเหตุกับงานบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และการประเมินและช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในที่เกิดเหตุ โดยวิทยากรจาก กรุงเทพมหานคร สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี โรงพยาบาลเลิศสิน โรงพยาบาลราชวิถี และกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง จึงจำเป็นที่บุคลากรต้องมีความชำนาญ มีการพัฒนาความรู้ ทักษะ วิธีการต่างๆ ให้ทันสมัย และมีมาตรฐานอยู่เสมอ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เกิดประโยชน์แก่ประชาชน รวมถึงการประสานความร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการบริการทางการแพทย์เบื้องต้น หรือการส่งต่อเพื่อรับการรักษา ซึ่งกรุงเทพมหานครมีนโยบายมุ่งเน้นและส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและมีความปลอดภัย การประชุมวิชาการทางการแพทย์ฉุกเฉินเป็นการเผยแพร่ความรู้ และนวัตกรรมในระบบปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินไปยังบุคลากรในเครือข่ายระบบปฏิบัติการการบริการการแพทย์ฉุกเฉินของกรุงเทพมหานคร เพื่อที่การบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินของกรุงเทพมหานครและเครือข่ายเป็นไปด้วยความเข้มแข็งเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลแก่ผู้เจ็บป่วย ซึ่งปัจจุบันสายด่วน 1646 เป็นที่รู้จักและมีประชาชนแจ้งเหตุเพื่อใช้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินเพิ่มขึ้น การลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยต้องทำด้วยความรวดเร็ว ถูกต้อง และให้ผู้เจ็บป่วยได้รับความปลอดภัยสูงสุด