นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดสัมมนา “พลิกวิกฤติเศรษฐกิจด้วยสินเชื่อพลังงาน” โดยได้แถลงถึงผลสำเร็จโครงการสินเชื่อพลังงาน ว่า โครงการดังกล่าวเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงินทั้ง 13 แห่งเป็นอย่างดี ในการร่วมกันปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่สนใจและต้องการลงทุนด้านการอนุรักษ์พลังงานและด้านพลังงานทดแทน อีกทั้งยังสามารถสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมาสามารถปล่อยสินเชื่อได้มูลค่ากว่า 60,907.27 ล้านบาท สามารถประหยัดพลังงานได้ 812 ktoe/ปี คิดเป็นเงิน 20,302 ล้านบาท/ปี ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก
นายพานิช พงศ์พิโรดม อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พพ. กล่าวว่า พพ. ยังมีการสนับสนุนด้านพลังงานอื่นๆ ที่มีแนวคิดกระตุ้นผู้ประกอบการให้หันมาสนใจในการลงทุนด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การให้การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ , การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยที่ผ่านมามีผลการดำเนินการ ดังนี้
- โครงการเงินหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พพ. ได้ทำการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน สามารถกระตุ้นให้ผู้ประกอบการมีการลงทุนด้านการอนุรักษ์พลังงานได้มากกว่า 11,088 ล้านบาท ก่อให้เกิดผลประหยัด 5,525 ล้านบาท หรือประมาณ 221 ktoe/ปี
- โครงการสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เป็นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกิดจากผลการประหยัดพลังงาน สามารถเกิดผลประหยัดด้านพลังงานได้ 1,000 ล้านบาท/ปี หรือประมาณ 40 ktoe/ปี เกิดการลงทุนจากผู้ประกอบการ 1,818 ล้านบาท โดยภาครัฐให้การสนับสนุนเงินภาษีเพียง 137 ล้านบาท
- โครงการส่งเสริมการลงทุนประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทน (BOI) มีผู้เข้ารับการสนับสนุนด้านการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวกับการผลิตเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ประหยัดพลังงาน การส่งเสริมการลงทุนกิจการบริการด้านการจัดการพลังงาน (ESCO) และการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร รวมทั้งสิ้น 37 แห่ง มีมูลค่าการลงทุน 7,360 ล้านบาท คิดเป็นผลประหยัดพลังงาน 1,600 ล้านบาท/ปี หรือประมาณ 64 ktoe/ปี
- โครงการส่งเสริมการลงทุนด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน (ESCO Fund) จะส่งเสริมสิทธิประโยชน์ในด้านการร่วมลงทุนกับโครงการหรือร่วมลงทุนกับบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) โดยผู้ประกอบการได้รับการอนุมัติไปแล้วจำนวน 5 แห่ง คิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 860 ล้านบาท และอนุมัติเงินสนับสนุนแล้วมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท คิดเป็นผลประหยัดพลังงาน 200 ล้านบาท/ปี หรือประมาณ 8 ktoe/ปี
ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ผู้ประกอบการทราบดีว่าการขยายตัวทางอุตสาหกรรมมีความเสี่ยงสูง จึงเป็นโอกาสที่จะปรับปรุงสายงานผลิตภายใน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ดังนั้น การลงทุนด้านการอนุรักษ์พลังงานจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ซึ่งสถาบันการเงินเอง ก็มีความพร้อมและยินดีให้การสนับสนุน... นายพานิชกล่าว....