นายวันชัย ธนิตติราภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงาน สายงานธุรกิจขนาดกลาง บมจ.ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้เฝ้าติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกและประเทศ รวมทั้งสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อย่างใกล้ชิด เพื่อหามาตรการในการดูแลลูกค้าให้สามารถฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ โดยเฉพาะลูกค้า SMEs ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ผู้ส่งออก รวมทั้ง Supply chain ของกลุ่มนี้ นอกจากนี้ ธนาคารยังคงเดินหน้าปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้า SMEs ที่มีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา สามารถปล่อยสินเชื่อไปแล้วจำนวนกว่า 30,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 6,000 ล้านบาท
“ภารกิจของธนาคารในขณะนี้ นอกจากการเร่งปล่อยสินเชื่อ จัดกระบวนการอนุมัติสินเชื่อให้สามารถอนุมัติได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพแล้ว ธนาคารยังส่งเจ้าหน้าที่สินเชื่อไปดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำ และร่วมแก้ไขปัญหาตั้งแต่เริ่มแรก โดยเน้นในการช่วยให้ลูกค้ามีสภาพคล่อง ด้วยการปรับสภาพการชำระหนี้ตามความเป็นจริง ขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระ ชะลอการชำระเงินต้น รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ทำให้ยอด NPL ลูกค้า SMEs เพิ่มขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ”
นายวันชัย ธนิตติราภรณ์ เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับลูกค้า SMEs ที่ธนาคารให้ความสำคัญในการปล่อยสินเชื่อใหม่นั้น จะเน้นผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการที่มีการจ้างงาน มีการใช้วัตถุดิบในประเทศ มีการสร้างคุณค่าเพิ่มในสินค้าและบริการ ซึ่งในการปล่อยสินเชื่อ ธนาคารจะสนับสนุนให้ลูกค้าเพิ่มศักยภาพ ด้วยการทำวิจัย ทำการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี เครื่องจักรเพื่อประหยัดพลังงาน รวมทั้งระบบ IT ต่างๆ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน”
สำหรับความคืบหน้าของโครงการกรุงไทย SMEs เพื่อนแท้แก้วิกฤต ซึ่งธนาคารได้ตั้งวงเงินไว้จำนวน 40,000 ล้านบาท เพื่อให้สินเชื่อที่ครบวงจรในเงื่อนไขพิเศษ อัตราดอกเบี้ยต่ำ และไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันนั้น ขณะนี้สามารถปล่อยสินเชื่อไปแล้วจำนวน 3,000 ล้านบาท ส่วนโครงการค้ำประกันลูกค้า SMEs กับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หรือโครงการ Portfolio Guarantee Scheme ธนาคารคาดว่าจะสามารถขยายวงเงินค้ำประกันสินเชื่อได้ไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ลงนามในสัญญากับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการสนับสนุนเงินกู้ตามโครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมสำหรับภาคเอกชน โดย สวทช.และธนาคารจะร่วมให้การสนับสนุนเงินกู้แก่ผู้ประกอบการในสัดส่วน สวทช. 2 ใน 3 และธนาคาร 1 ใน 3 ของวงเงินลงทุนเพื่อการวิจัย สูงสุดไม่เกิน 30 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยในอัตราเท่ากับครึ่งหนึ่งของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 2 ปี + 2.25 สำหรับการลงนามในสัญญากับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ในการให้เงินกู้เพื่อพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมในรูปแบบของธุรกิจใหม่ สนช. จะให้การสนับสนุนดอกเบี้ยสูงสุด 5 ล้านบาทต่อโครงการ ในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี
ฝ่ายสื่อสารการตลาดและประชาสัมพันธ์
โทร. 0-2208-4174-7