ศิริชัย สมบัติศิริ รองผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ 1 กล่าวว่า “การประชุมนี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน Euromoney Conference 2009 ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 3 ในประเทศไทย จัดโดยทีมงาน Euromoney ที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดประชุมหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน และการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ดังนั้น จึงนับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้มีส่วนร่วมในการเป็นผู้สนับสนุนหลักของการประชุมครั้งสำคัญนี้ และเป็นส่วนหนึ่งที่ได้เผยแพร่ภาพลักษณ์และศักยภาพของเศรษฐกิจไทย”
นอกเหนือจากการเป็นผู้สนับสนุนหลักในการจัดงานแล้ว ธนาคารยังได้ร่วมจัดการสัมมนาย่อยในหัวข้อ “Revitalizing Thailand’s Economy: Private Sector Perspectives” ให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมจากนานาชาติ โดยได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชน ได้แก่ อนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จำกัด (มหาชน) และ กษมา บุณยคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดิเอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมแสดงวิสัยทัศน์และชี้แนวทางเพิ่มศักยภาพธุรกิจให้พร้อมรับมือภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยในการสัมมนาย่อยในครั้งนี้
จากมุมมองของอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จำกัด (มหาชน) เห็นว่าแม้จะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษกิจชะลอตัวธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการค้าปลีกยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีศักยภาพที่ดีในการขยายธุรกิจจากการพัฒนาของตลาด ผลิตภัณฑ์ และวิธีการทำธุรกิจใหม่ๆ และความหลากหลายของผู้บริโภค อย่างไรก็ดี ต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์อยู่เสมอ ให้เหมาะสมกับรูปแบบการแข่งขันและตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
ในขณะที่ กษมา บุณยคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มองว่าธุรกิจโรงแรมและบริการยังคงได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านลบทั้งภายในและภายนอก เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก การระบาดของโรคร้ายแรง สวัสดิภาพและความปลอดภัย ดังนั้น จึงไม่น่าจะฟื้นตัวได้ในระยะสั้น แต่ธุรกิจโรงแรมและบริการในประเทศไทยยังถือว่ามีความได้เปรียบในด้านราคาและคุณภาพบริการ ดังนั้น สิ่งที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนคือการเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาโดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง
นอกจากนั้น ในงาน “Euromoney Conference 2009” ครั้งนี้ยังมีผู้บริหารระดับสูงของธนาคารจะเข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นเกี่ยวกับการเศรษฐกิจและการลงทุนได้แก่ ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ร่วมเสวนาในหัวข้อ “Thailand at the Heart of a South East Asian Recovery” โดยมีความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะสามารถเป็นศูนย์กลางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ เพราะภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยที่ผ่านมา เราสามารถผ่านพ้นผลกระทบต่างๆ มาได้ดีพอควร แต่เราต้องเปลี่ยนตัวเองครั้งใหญ่ ด้วยการฟื้นฟูความต้องการความต้องการภายในประเทศอย่างจริงจัง และต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และควรใช้ความได้เปรียบจากการเป็นผู้นำการส่งออกอาหารให้มากขึ้น ในขณะที่ ภิมลภา สันติโชค SVP, ผู้จัดการ Structured Finance ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ “Financing the New Mega-Projects” เห็นว่าเป็นสิ่งดีที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงการ Mega-Projects ต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้มีการพัฒนาประเทศให้เอื้อต่อการลงทุนจากต่างชาติ รวมทั้งการเปิดโอกาสให้เอกชนได้มีส่วนร่วมในโครงการต่างๆ ซึ่งรัฐบาลควรมีการผลักดันให้มีการกรอบการดำเนินการที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในส่วนของธนาคารเองมีความเชี่ยวชาญด้าน Structured Finance ดังนั้น ธนาคารยินดีให้การสนับสนุนในด้านเงินทุนในโครงการต่างๆ โดยจะพิจารณาจากศักยภาพของโครงการรวมทั้งการคุ้มครองความเสี่ยงและการจัดสรรผลตอบแทน (Risk & Reward) ที่เหมาะสมของรัฐบาล
จากมุมมองโดยรวมของผู้ร่วมเสวนาส่วนใหญ่ทั้งของไทยและต่างชาติ ยังมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของธุรกิจในประเทศว่าจะสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ และมีการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เนื่องจากความหลากหลายของภาคธุรกิจต่างๆ ในประเทศ โอกาสในธุรกิจใหม่ๆ และด้วยรากฐานและฐานะทางการเงินที่ยังคงแข็งแกร่งในหลายธุรกิจ รวมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว จะทำให้ภาคเอกชนต่างๆ สามารถพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจได้อย่างดี และผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้ แต่ต้องปรับตัวรวมทั้งต้องแสวงหาตลาดใหม่เพื่อทดแทนตลาดเดิมที่ความต้องการในการบริโภคลดลง อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตในช่วงนี้ไปได้ คือ การเรียกความเชื่อมั่นของประเทศให้กลับมาโดยเร็ว โดยเฉพาะจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งจะมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้โดยเร็ว
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศที่ให้บริการทางการเงินแบบครบวงจร ก่อตั้งขึ้นโดยพระบรมราชานุญาตในปี พ.ศ. 2449 โดยเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 ธนาคารมีมูลค่าตลาดรวม (Market Capitalization) สูงเป็นอันดับที่ 1 ในกลุ่มสถาบันการเงิน (184 พันล้านบาท) มีเครือข่ายสาขาและจุดให้บริการมากที่สุดในประเทศไทย (สาขารวมทั้งสิ้น 953 สาขา ศูนย์แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 136 แห่ง เครื่องเอทีเอ็ม 6,249 เครื่อง) เพื่อให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ลูกค้าธุรกิจขนาดกลาง/ขนาดย่อม และลูกค้าบุคคล ด้วยขนาดสินทรัพย์ 1,315 พันล้านบาท สามารถเรียกดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.scb.co.th
ติดต่อ
สื่อสารองค์กร
ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน)
โทร : 02-544-4502, 02-544-4517
Email : [email protected]
Wattanee Somchit (A)
Manager, Press Relationship,
Corporate Communications Office
Siam Commercial Bank PCL.
Tel : (0) 2544-4502 / (0)2544-4501-3
Fax : (0) 2937-7454