อันดับเครดิตของ TISCO สะท้อนถึงสถานภาพของบริษัทที่เป็นบริษัทโฮลดิ้งส์ ซึ่งมีโครงสร้างในการดำเนินธุรกิจและโครงสร้างทางการเงินที่ด้อยกว่าธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) (TISCOB; ‘A(tha)’/‘F1(tha)’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ประกอบกิจการธนาคาร เนื่องจากผลการดำเนินงานส่วนใหญ่ของ TISCO ต้องพึ่งพาการจ่ายเงินปันผลจาก TISCOB สำหรับแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของบริษัทนั้น สะท้อนถึงระดับหนี้สินและสภาพคล่องที่คาดว่า TISCO และบริษัทในกลุ่มจะสามารถรักษาให้คงอยู่ในระดับนี้ได้ ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในด้านของนโยบายการลงทุน ระดับหนี้สิน และกลยุทธ์ในด้านธุรกิจ รวมทั้งอันดับเครดิตของ TISCOB อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัท จากการที่ TISCO มีสถานะเป็นบริษัทโฮลดิ้งส์และการที่บริษัทไม่มีผู้ถือหุ้นสถาบันที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้ไม่สามารถพึ่งพาการสนับสนุนจากภายนอกได้
ในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 TISCO มีกำไรสุทธิ (งบการเงินเดี่ยว) ที่ 152 ล้านบาท โดยรายได้ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการให้บริการด้านธุรการแก่บริษัทในกลุ่ม บริษัทมีดอกเบี้ยจ่าย 31 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ซึ่งเกิดจากเงินกู้ยืมระยะสั้นจำนวน 3.5 พันล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ยืมจาก TISCOB ทั้งนี้ TISCO คาดว่าจะสามารถชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้นจำนวน 500 ล้านบาทแก่ TISCOB ได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2552 โดยจะใช้เงินที่ได้รับจากการลดทุนใน บริษัท ไพรมัส ลีสซิ่ง จำกัด (Primus) ซึ่งเป็นบริษัทที่ TISCO เข้าไปซื้อกิจการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นเงินปันผลที่บริษัทจะได้รับจาก TISCOB อีกประมาณ 600 ล้านบาท บางส่วนจะถูกนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมเพื่อลดระดับหนี้สินของ TISCO ลงอีกในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 แต่อย่างไรก็ตามเงินปันผลรับดังกล่าวส่วนใหญ่จะถูกนำมาจ่ายออกเป็นเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นของ TISCO
ในขณะที่ TISCO มีแผนที่จะออกตั๋วแลกเงินระยะสั้นเพื่อชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้นบางส่วน เนื่องจากต้นทุนดอกเบี้ยของตั๋วแลกเงินที่ต่ำกว่า TISCOB จะยังคงเป็นผู้ให้การสนับสนุนหลักในด้านสภาพคล่องแก่ TISCO อย่างไรก็ตามในปัจจุบันการให้กู้ยืมเงินแก่บริษัทในกลุ่มของ TISCOB ได้ถูกจำกัดไว้ในวงเงินไม่เกิน 3.7 พันล้านบาท ซึ่งทำให้การที่ TISCO ต้องพึ่งพา TISCOB ในการให้การสนับสนุนในด้านสภาพคล่อง รวมทั้ง TISCO มีหนี้สินส่วนใหญ่เป็นหนี้สินระยะสั้นเป็นปัจจัยเสี่ยงของบริษัท
สำหรับสภาพคล่องของ TISCOB เองนั้น จากการที่ธนาคารมีการพึ่งพาเงินฝากจากลูกค้าผู้ฝากเงินรายใหญ่เป็นหลักและหนี้สินส่วนใหญ่ของธนาคารเป็นระยะสั้น จึงทำให้มีความเสี่ยงในด้านสภาพคล่อง แต่อย่างไรก็ตามความแตกต่างระหว่างอายุของสินทรัพย์และหนี้สินของธนาคาร (duration gap) ได้ปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่ธนาคารได้ออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิมูลค่า 2 พันล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 และความแตกต่างระหว่างอายุของสินทรัพย์และหนี้สินของธนาคารคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอีก หลังจากการออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิเพิ่มเติมอีก 2 พันล้านบาท อัตราส่วนเงินกู้ต่อเงินฝากและหนี้สินระยะสั้นของธนาคารปรับตัวดีขึ้นเป็น 98.3% ณ สิ้นปี 2551 จาก 108.9% ณ สิ้นปี 2550 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นอย่างมากของเงินฝากในปี 2551 นอกจากนั้นการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนจากภาครัฐในปัจจุบันมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในด้านสภาพคล่องของธนาคารลงได้ในระดับหนึ่ง
หนี้สินของ TISCO ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่เกิดจากการปรับโครงสร้างของกลุ่ม ซึ่งมีการโอนการถือหุ้นในบริษัทในกลุ่มจาก TISCOB มาอยู่ที่ TISCO อย่างไรก็ตามระดับหนี้สินของบริษัทในปัจจุบันนั้นนับว่ายังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ประมาณ 0.3 เท่า จากการที่ฝ่ายบริหารของบริษัทได้ชี้แจงว่าบริษัทไม่มีแผนที่จะลงทุนเพิ่มเติมภายในอีก 3 ปีข้างหน้า ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป อัตราส่วนเงินลงทุนในบริษัทลูกต่อทุน (double leverage ratio) ของ TISCO อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ที่ 121%
TISCO เป็นบริษัทโฮลดิ้งส์ของ TISCOB บริษัทจัดตั้งขึ้นในปี 2551 ทั้งนี้บริษัทถือหุ้น 99.5% ใน TISCOB และถือหุ้น 100% ในบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนและบริษัทเช่าซื้อของกลุ่ม
ติดต่อ
พชร ศรายุทธ, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4755