ในธุรกิจการกลั่น ปตท. ลงทุนในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันผ่าน 5 บริษัทในกลุ่ม ปตท. ประกอบด้วย บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด และ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)ซึ่งมีกำลังการกลั่นรวมกันทั้งสิ้น 1,040,000 บาร์เรลต่อวัน โดย ปตท. จัดหาน้ำมันดิบและรับซื้อผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปจากบริษัทโรงกลั่นน้ำมันในกลุ่ม ปตท. เพื่อจำหน่ายต่อให้กับลูกค้าของหน่วยธุรกิจน้ำมัน ทั้งนี้ ปตท.จะจัดหาน้ำมันดิบและรับซื้อผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ ปตท. ถืออยู่ในโรงกลั่นน้ำมันนั้นๆ
สำหรับโรงกลั่นของบริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เดินทางมาเยี่ยมชมในครั้งนี้ได้สร้างพลังร่วมทางธุรกิจโดยทำการเชื่อมต่อโรงกลั่นน้ำมันกับโรงงานอะโรเมติกส์ 2 โรง ส่งผลให้มีกำลังการกลั่นน้ำมันดิบและคอนเดนเสทรวมกัน 280,000 บาร์เรลต่อวัน สามารถผลิตผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปได้ 228,000 บาร์เรลต่อวัน และผลิตสารอะโรเมติกส์ได้ประมาณ 2.2 ล้านตันต่อปี ซึ่งสูงเป็นอันดับ 7 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีโครงการก่อสร้างหน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมันให้เป็นไปตามมาตรฐาน Euro IV อีกด้วย ทั้งนี้ การเชื่อมต่อสายการผลิตระหว่างโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานอะโรเมติกส์ทั้ง 2 แห่ง ทำให้บริษัทฯ สามารถประสานประโยชน์ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่าย (synergy benefits) ได้ประมาณ 200 — 350 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี
ในขณะที่ในกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีนั้น ปตท.ลงทุนในธุรกิจแบบครบวงจรผ่านบริษัทในกลุ่ม ปตท. 8 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด บริษัท พีทีที ฟีนอล จำกัด บริษัท พีทีทีอาซาฮี เคมิคอล จำกัด บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ โลจิสติกส์ จำกัด และ บริษัท อัลลายแอนซ์ แพลนท์ เซอร์วิส จำกัด โดยเริ่มตั้งแต่การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมีขั้นต้น ขั้นกลางและขั้นปลาย ทั้งสายโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ ดังจะเห็นได้จากการขยายโครงการสำคัญของ ปตท.เคมิคอล ที่จะเปิดในเร็ว ๆ นี้ คือ โครงการอีเทน แครกเกอร์ ขนาดกำลังการผลิต 1 ล้านตันต่อปี มีกำหนดเดินเครื่องในช่วงไตรมาสที่สามของปีนี้ และโครงการผลิตเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำเชิงเส้น หรือ LLDPE ขนาดกำลังการผลิต 4 แสนตันต่อปี ทั้งนี้ปัจจุบันกลุ่ม ปตท. กลายเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีรายใหญ่ของประเทศ และเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาคเอเชีย
นายประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า กว่า 20 ปี ที่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกของจังหวัดระยอง กลุ่ม ปตท.ถือเป็นพันธกิจสำคัญที่จะสร้างสมดุลด้านการพัฒนาทางธุรกิจควบคู่ไปกับการบริหารจัดการและดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดี นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท.ยังร่วมกับชุมชน ดำเนินโครงการเพื่อสังคมต่างๆอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่สีเขียว การสนับสนุนการศึกษา และการดูแลสุขภาพของชุมชน ทั้งนี้ จากการปฏิบัติการตามแผนลดและขจัดมลพิษปี 2550 — 2554 กลุ่ม ปตท.ได้ลงทุนเพื่อปรับลดมลพิษรวมทั้งสิ้น 44 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวมกว่า 12,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยมลสารประมาณ 50% ของค่าที่ได้รับอนุมัติภายในปี 2554 ส่งผลให้ปัจจุบัน กลุ่ม ปตท. สามารถปรับลดการระบายสารออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) และสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ลงได้มากกว่าค่าที่ได้รับอนุมัติใน EIA กว่า 43% และ 45% ตามลำดับ สามารถลดปริมาณการปล่อยน้ำเสียลงได้กว่า 700,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ลดการใช้น้ำลงกว่า 1.1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ลดปริมาณการทิ้งกากของเสียลงได้กว่า 378 ตันต่อปี รวมทั้งยังปิดจุดรั่วซึมของสารอินทรีย์ระเหย (VOCs) ที่มักเกิดตามรอยข้อต่อของอุปกรณ์ต่างๆได้หมด 100%
ทั้งนี้ สายโซ่ธุรกิจในกลุ่ม ปตท.ได้นำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมาย ซึ่งล้วนมีความสำคัญต่อการพัฒนาและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อทั้งพี่น้องชาวระยองและประชาชนคนไทยทั่วประเทศ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
โทรศัพท์ 0-2537-2159
โทรสาร 0-2537-2171