ศ.คลินิก พญ. วินัดดา ปิยะศิลป์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาผลการเรียนของเด็กไทยน่าเป็นห่วง จากการสำรวจของสถาบันระดับโลกจะพบว่าประเทศไทยอยู่อันดับท้าย ๆ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ (O-NET) ของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในปี พ.ศ.2551 พบว่า ผลสอบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้คะแนนเฉลี่ยทุกวิชาไม่ถึงร้อยละ 50 ซึ่งลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับการทดสอบในปี 2544-2546 ที่เด็กได้คะแนนเฉลี่ยในวิชาต่าง ๆ อยู่ในระดับ 70-79 % รวมทั้งยังขาดความเข้มแข็งในด้านความรู้และทักษะพื้นฐานในการทำงานด้านความคิด วิเคราะห์และสร้างสรรค์ ทักษะการอ่านของนักเรียนไทยส่วนใหญ่ไม่เกินระดับ 2 จากทั้งหมด 5 ระดับ
พญ.วินัดดา กล่าวอีกว่า แม้ว่าจะปรากฎภาพความสำเร็จของเด็กไทยที่คว้ารางวัลต่าง ๆ ในการแข่งขันระดับโลกได้หลายครั้งก็ตาม แต่ก็เป็นเด็กจำนวนน้อยนิดจากโรงเรียนเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการกระจายโอกาสทางวิชาการไม่ทั่วถึงเมื่อเทียบกับนานาชาติ จากผลการประเมินของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท. โครงการ PISA) ในปี 2546 พบเด็กวัยเรียนไทยส่วนใหญ่ยังอ่อนด้อยด้านการเรียนรู้คณิตศาสตร์และการแก้ปัญหาเมื่อเปรียบเทียบกับนานาชาติและประเทศในแถบเอเชีย เช่น เกาหลี ฮ่องกง ญี่ปุ่น และมีทักษะค้นหาสาระจากข้อความที่อ่านค่อนข้างต่ำกว่าด้านอื่น
“จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงคุณภาพด้านการเรียนรู้ของเด็กเกิดจากความรู้ความเข้าใจของพ่อแม่และที่สำคัญขึ้นกับคุณภาพของครู ในการสร้างรากฐานการเรียนฝึกฝนให้คิดเป็น ทำเป็น อ่านออก เขียนได้ ค้นคว้าข้อมูลทั้งคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจเลือกข้อมูลที่สำคัญเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้นคุณภาพการเรียนของเด็กจึงเป็นภาพสะท้อนคุณภาพครู” พญ.วินัดดา กล่าว
ผู้ช่วย ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวต่อว่า ในฐานะที่เป็นแพทย์ซึ่งดูแลปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเด็กมาตลอดพบว่า ความจริงแล้ว เด็กฉลาดพบได้มาก จะพบเด็กไม่ฉลาด เพียง 1-3% เท่านั้น แสดงว่ายังมีเด็กฉลาดแต่เรียนไม่เก่งอีกมาก เพียงแต่ระบบการเรียนการสอนและการให้ความช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาการเรียนของเรายังไม่ดีพอ
นอกจากนี้ปัญหาสุขภาพของเด็กที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการเรียนได้แก่ ปัญหาการได้ยินการมองเห็นบกพร่อง ปัญหาความบกพร่องในการเรียนรู้ โรคสมาธิสั้น ภาวะปัญญาอ่อน ซึ่งหากไม่มีทีมสหวิชาชีพในโรงเรียนทำงานอย่างเป็นระบบ เด็กกลุ่มนี้อาจขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา เนื่องจากครูเองยังขาดทักษะในการวิคราะห์ และการช่วยเหลืออย่างถูกวิธี
ขณะเดียวกันระบบการเรียนการสอนในปัจจุบันไม่สร้างความมั่นในให้กับเด็กเท่าที่ควร ดูได้จากสถิติการเข้าสู่โรงเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปีละ 8-9 แสนคน ต่อปี เมื่อจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 เด็กที่กล้าสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีเพียง 100,000 คนเท่านั้น แสดงว่ามีเด็กเพียง 15% เท่านั้นที่พร้อมแข่ง แต่อีกกว่า 7 แสนคนมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่มั่นใจว่าจะสู้คนอื่นได้ และหากระบบการศึกษายังมุ่งเน้นแต่เฉพาะเด็กเก่ง เราก็จะลากสังคมไปทั้งหมดเพื่อเด็กกลุ่มเดียว แต่เด็กที่เหลือยังไม่มีระบบรองรับในการช่วยเหลือ ซึ่งถ้าไปดูรากฐานลึก ๆ ของเด็กที่มีปัญหาเรื่องอารมณ์ พฤติกรรม มักจะเป็นปัญหามาจากการล้มเหลวทางด้านการเรียน เนื่องจากระบบไม่สามารถพัฒนาความสามารถด้านอื่นที่จะทำให้เด็กรู้สึกภูมิใจในตัวเอง จึงอยากเรียนไปถึงรัฐบาลว่าการจะปฏิรูปการศึกษาควรจะให้ความสำคัญกับการปฎิรูปหลักสูตรครู เพิ่มปริมาณครู พัฒนาระบบค่าตอบแทนและเน้นคุณภาพครูมากกว่าที่จะปรับเปลี่ยนเนื้อหาวิชาการที่มีการปรับเปลี่ยนเป็นระยะจนครูทำตามไม่ทัน ถ้าคนเก่งแย่งกันมาเรียนครูและสอนเด็กของเราแล้ว เชื่อว่าคุณภาพของเด็กไทยจะเปลี่ยนไปอีกมาก นั่นหมายถึงอนาคตของชาติก็จะเปลี่ยนไป ” พญ.วินัดดา กล่าว
ผู้ช่วย ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวด้วยว่า รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับระบบการศึกษา ก็อยากให้มองและแก้ปัญหาให้ถึงแก่นอย่างจริงจังและผลักดันให้เกิดระบบการผลิตครูรุ่นใหม่เพื่อตอบสนองต่อการมีส่วนร่วมของผู้เรียน และให้ทุกฝ่าย ทั้งรัฐและเอกชน NGO เข้ามาช่วยแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ และในงาน ECUCA 2009 ระหว่างวันที่ 15-17 ตุลาคม 2552 ณ ศูนย์ประชุมไบเทคบางนา ตนและผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรการเรียนการสอน ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จะมาเปิดคลินิกครูเพื่อให้คำปรึกษาครูตลอดจนผู้ปกครองให้ได้เข้าถึงเด็ก และร่วมกันพัฒนาเด็กให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพของแต่ละคนอย่างแท้จริง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 081-7536119 มหาวิทยาลัยบูรพา