นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)กล่าวว่าจากสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติปี 2545-2549 พบว่า การขับรถเร็วเกินอัตรากำหนดเป็นสาเหตุอันดับแรกของการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งพบสูงถึงร้อยละ 20 หรือ 1 ใน 5 ของอุบัติเหตุทั้งหมด และถ้าเป็นถนนของกรมทางหลวงพบว่า 3 ใน 4 ของอุบัติเหตุเกิดจากขับรถเร็วและยิ่งมีช่องจราจรมากก็ยิ่งมีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุที่มาจากความเร็วเพราะคนขับมีพื้นที่เร่งความเร็วมากขึ้น
“ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมหาศาลจากการขับเร็วส่วนหนึ่งเพราะกฎหมายประเทศไทยทั้ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 ยังจำกัดความเร็วแบบหลวมๆ กว้างๆ โดยความเร็วในเขตเทศบาลกำหนดไว้ 80 กม./ชม. ส่วนความเร็วนอกเขตเทศบาล 90 กม./ชม. ขณะที่ต่างประเทศกำหนดไว้ต่ำกว่ามาก โดยเฉพาะความเร็วในเขตเมืองหรือเทศบาลสำหรับรถมอเตอร์ไซด์ โดยประเทศออสเตรเลีย 50-60 กม./ชม. บราซิล 40-60 กม./ชม. อังกฤษ 50 กม./ชม. และญี่ปุ่น 40-60 กม./ชม. ขณะที่ไทยกำหนดไว้สูงถึง 80 กม./ชม.”
นพ.ธนะพงศ์กล่าวต่อว่า จากการศึกษาอัตราความเร็วที่เหมาะสมสำหรับรถมอเตอร์ไซต์ในเขตเทศบาลโดยเก็บข้อมูลความเร็วรถมอเตอร์ไซด์ในเขตเทศบาล 8 จังหวัดทั่วประเทศพบว่า มีคนขับขี่เพียงร้อยละ 0.2 เท่านั้นที่เลือกใช้ความเร็วสูงกว่ากฎหมายกำหนด ขณะร้อยละ 85 เลือกใช้ความเร็วต่ำกว่า 50 กม./ชม.ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ ดังนั้นการกำหนดอัตราความเร็วของกฎหมายไทยในปัจจุบันจึงสูงเกินความเป็นจริงมาก ควรปรับลดลงให้สอดคล้องกับนานาประเทศ
อุบัติเหตุจากการขับขี่รวดเร็วบนท้องถนนส่วนใหญ่มักเกิดกับยานพาหนะขนาดเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถมอเตอร์ไซด์ซึ่งเป็นพาหนะสุดอันตรายที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากในแต่ละปี สอดคล้องกับข้อมูลอุบัติเหตุของกรมทางหลวงช่วงปี 2544-2549 ที่พบว่าในจำนวนอุบัติเหตุทางหลวงทั้งสิ้น 70,820 ครั้ง เกิดจากขับเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดถึงร้อยละ 75
“การขับเร็วจึงก่ออันตรายไม่น้อยกว่าการเมาแล้วขับ เพราะเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุตามมาไม่น้อยกว่ากัน จากการศึกษาในประเทศออสเตรเลียพบว่า ถ้าขับรถเร็ว 65 กม./ชม. เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ 60 กม./ชม. จะมีโอกาสเสี่ยงประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บ 2 เท่า ถ้าเพิ่มเป็น 70 กม./ชม. โอกาสเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า และถ้าเพิ่มเป็น 75 กม./ชม. โอกาสเสี่ยงจะสูงถึง 10 เท่า เทียบเท่าความเสี่ยงจากการขับขี่รถที่ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 0.5, 0.8 และ 1.2 ตามลำดับ”
นพ.ธนะพงศ์กล่าวว่าข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าระดับความรุนแรงจากการบาดเจ็บจะเพิ่ม 3 เท่าถ้าความเร็วขณะชนเพิ่มจาก 32 กม./ชม. เป็น 48 กม./ชม. และเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า ถ้าความเร็วขณะชนเพิ่มเป็น 64 กม./ชม. ส่วนคนเดินเท้าจะมีโอกาสรอดสูงถึงร้อยละ 90 ถ้าถูกรถชนที่ความเร็ว 30 กม./ชม. แต่โอกาสรอดชีวิตจะลดต่ำกว่าร้อยละ 50 ถ้าความเร็วรถเพิ่มเป็น 45 กม./ชม.
“การดำเนินการปรับเปลี่ยนอัตราความเร็วตามที่กฎหมายกำหนดให้สอดคล้องกับอัตราความเร็วในหลายประเทศจึงเป็นหนึ่งวิธีการลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนไทยจากการขับขี่เร็ว อย่างน้อยๆ ก็ไม่ควรให้ความเร็วในเขตเทศบาลและเมืองสูงถึง 80 กม./ชม. ขณะเดียวกันท้องถิ่นที่เป็นเขตเมืองควรติดตั้งป้ายจำกัดความเร็วบนถนนของตนเองเพื่อให้ประชาชนรับทราบให้มากขึ้น”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0-2511-5855 ต่อ 116