(18 มิ.ย.52) นายพานิช พงศ์พิโรดม อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นประธานเปิดสัมมนา แนวทางการบังคับใช้กฎหมายออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์ โดยได้กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน ได้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐานหลักเกณฑ์ และวิธีในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2552 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2552 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 มิ.ย.2552นี้
โดยกฎกระทรวงดังกล่าวนี้ มีวัตถุประสงค์ในการกำหนดมาตรฐานของอาคารที่สร้างใหม่ให้มีการออกแบบในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และลดการสูญเสียพลังงานโดยไม่จำเป็น ซึ่งแบบก่อสร้างอาคารใหม่หรืออาคารที่ดัดแปลงขนาดตั้งแต่ 2,000 ตรม.ระบบต่างๆ ที่ออกแบบ จะต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานที่กำหนด ได้แก่ ระบบกรอบอาคาร, ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง,ระบบปรับอากาศ ,การใช้พลังงานโดยรวมของอาคาร และการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในระบบต่างๆ ของอาคาร เป็นต้น โดยมีประเภทอาคารที่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้อยู่ 9 ประเภท ได้แก่ สถานพยาบาล,สถานศึกษา,สำนักงาน,อาคารชุด,อาคารที่มีลักษณะชุมชนคนจำนวนมาก,อาคารโรงมหรสพ,อาคารโรงแรม,อาคารสถานีบริการ,อาคารห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า ซึ่งจากการประเมินภาพรวมอาคารที่สร้างใหม่ของประเทศ หากมีการออกแบบให้ระบบต่างๆ อยู่ภายใต้มาตรฐานกฎกระทรวงที่กำหนด จะก่อให้เกิดการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ และประหยัดได้อย่างน้อยร้อยละ 10 ของอาคารที่ก่อสร้างใหม่
สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมและ สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องได้แก่ ผู้ประกอบการอาคาร ผู้ออกแบบอาคาร และเจ้าหน้าที่จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้ทราบถึงแนวทางและวิธีในการปฏิบัติตามกฎหมาย รวมถึงรับทราบปัญหาและข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่แนวทางแก้ไขร่วมกัน
นอกจากนี้ พพ. ได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนกฎกระทรวงดังกล่าว ในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ การจัดทำคู่มือคำอธิบายการปฏิบัติตามกฎกระทรวงฯ ให้ทราบถึงหลักเกณฑ์ ข้อกำหนด และแนวทางปฏิบัติตามกฎหมาย ,จัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมและคู่มือมาตรฐานการอนุรักษ์พลังงานในอาคารตามเกณฑ์มาตรฐานการอนุรักษ์พลังงานในอาคารภายใต้ พรบ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 ,จัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยในการตรวจสอบแบบอาคารกับเกณฑ์การใช้พลังงานเพื่อให้การประเมินการใช้พลังงานเป็นมาตรฐานเดียวกัน, ผลิตคู่มือข้อมูลคุณสมบัติด้านการอนุรักษ์พลังงานของวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน