นายสิทธิรัตน์ ถ้ำสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินงานจัดตั้งศูนย์ก่อนวัยเรียน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนจำนวนทั้งสิ้น 318 ศูนย์ ในพื้นที่ 47 เขต มีเด็กก่อนวัยเรียนอายุระหว่าง 2-6 ปี จำนวน 28,707 คน และมีอาสาสมัครผู้ดูแลเด็ก จำนวน 2,073 คน กรุงเทพมหานครจัดตั้งศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนเพื่อเป็นการบริการสังคมในการแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองในชุมชน ที่ไม่มีเวลาดูแลบุตรหลานของตัวเอง และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของเด็กก่อนเข้าสู่วัยเรียน รวมทั้งส่งเสริมให้เด็กได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมกับวัยด้วย ในส่วนของอาสาสมัครผู้ดูแลเด็กก่อนวัยเรียนนั้น กรุงเทพมหานครได้กำหนดหลักเกณฑ์หลักๆ คือ จะต้องเป็นเพศหญิง อายุ 15 ปีขึ้นไป มีวุฒิตั้งแต่ ม.3 ขึ้นไปหรือเทียบเท่า และจะต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในชุมชนที่ตั้งศูนย์ฯหรืออยู่ใกล้เคียงกับศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนที่รับสมัคร โดยเด็กจำนวน 10 คน จะมีอาสาสมัครดูแล 1 คน ซึ่งอาสาสมัครผู้ดูแลเด็กจะได้รับการแต่งตั้งจากผู้อำนวยการเขตในการปฏิบัติงานด้านการพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนของศูนย์นั้นๆ
นายวิสูตร สำเร็จวาณิชย์ รองประธานคณะกรรมการฯ เสนอว่า ในการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนของกรุงเทพมหานครนั้น อยากให้มีการปรับเปลี่ยนในเรื่องการกำหนดอายุของเด็กที่จะสมัครเข้ามาอยู่ในศูนย์ฯ ควรมีอายุระหว่าง 2-4 ปี เนื่องจากเป็นช่วงอายุของเด็กก่อนเข้าเรียนในชั้นอนุบาล แต่ถ้าเป็นอายุ 2-6 ปี จะทำให้เป็นการซับซ้อนกันระหว่างอายุของเด็กอนุบาลและเด็กก่อนวัยเรียน ซึ่งอาจจะทำให้เด็กมีปัญหาเมื่อเข้าสู่ชั้นปฐมศึกษา นอกจากนี้ในส่วนของระดับอายุอาสาสมัครผู้ดูแลเด็กนั้น ควรมีการกำหนดอายุให้มากกว่า 15 ปี และเพิ่มจำนวนพี่เลี้ยงที่ดูแลเด็กจาก 1 คน ต่อ เด็ก 10 คน เป็น 2 หรือ 3 คน ต่อเด็ก 10 คน เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลเด็กทั้งในด้านความปลอดภัยและด้านพัฒนาการของเด็กก่อนวัยเรียนอีกด้วย ทั้งนี้ผู้แทนจากสำนักพัฒนาสังคมจะนำข้อเสนอจากคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการปรับเปลี่ยนแก้ไขก่อนจะนำมาเสนอต่อคณะกรรมการฯ อีกครั้งต่อไป