เคล็ดลับและเบื้องหลังความสำเร็จของ 5 หนุ่มน้อย สู่การเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับโลก

จันทร์ ๒๒ มิถุนายน ๒๐๐๙ ๑๐:๓๓
การแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับเอเชียครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 24 เมษายน- 2 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันจำนวน 8 คน วันนี้ได้รับการคัดเลือกให้เหลือเพียง 5 คน เพื่อเข้าแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกเวทีโลก แข่งขันวันที่ 11-19 กรกฎาคม 2552 ณ เมือง เมอริดา ประเทศเม็กซิโก

นายอิสระพงศ์ เอกสินชล หรือ ปริ๊นซ์ เจ้าของเหรียญทองและทำคะแนนเป็นอันดับที่ 3 รองจากผู้แทนสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งได้คะแนนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง และอันดับสอง จากการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับเอเชียครั้งที่ 10 กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม เผยว่าเบื้องหลังความสำเร็จอยู่ที่มีครอบครัวคอยสนับสนุนทุกอย่างในการเรียนรู้ และไม่เคยสักครั้งที่ต้องการให้เขาเดินตามรอยอาชีพของพ่อแม่

น้องปริ๊นซ์มีแรงบันดาลใจเมื่อวัย 4 ขวบ เป็นที่มาของความสนใจวิชาฟิสิกส์ว่าตอนเด็กเวลาเล่นรถของเล่น ผมอยากรู้ว่ากลไกข้างในมันเป็นอย่างไร รถจึงวิ่งได้ และถ้าอยากให้วิ่งเร็วกว่านี้จะทำอย่างไร พอโตขึ้นก็รู้ว่านี่คือ ฟิสิกส์ และเมื่อมองรอบตัวทุกอย่างก็คือฟิสิกส์ “แม้ฟิสิกส์จะเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แต่ขอให้คิดว่า เมื่อเราพบกับความยากลำบาก ให้มองว่ามันเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของเรา ควรมีแรงบันดาลใจ และตั้งเป้าหมายที่จะพยายามเรียนรู้ โดยเฉพาะในสิ่งที่เรารัก”น้องปริ๊นซ์กล่าว

ธนภัทร วรศรัณย์ หรือ “ตั้ว” ซึ่งคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับเอเชียครั้งที่ 10 อยู่ในอันดับ 10 ของการแข่งขันดังกล่าว ปัจจุบันจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม และสอบติดคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราช แล้วแต่เจ้าตัวบอกว่าตั้งใจอยากเรียนด้านฟิสิกส์มากกว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างรอทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศด้านฟิสิกส์ตามที่ใจรัก “ผมเรียนฟิสิกส์ด้วยความรัก และมีความสุขในการเรียน หลักการของฟิสิกส์นำมาใช้ได้จริงในทุกกรณี จึงอยากเรียนต่อในชั้นที่สูงขึ้นไป และอยากทำงานวิจัยศึกษาด้านนี้ ที่ตั้งใจไว้คือ อยากเรียนฟิสิกส์ ควบคู่กับวิศวะการแพทย์”

เบื้องหลังความสำเร็จของตั้วคือ คุณพ่อในดวงใจ ซึ่งท่านได้ทุ่มเทเวลาให้กับการเรียนของลูกๆ โดยแสวงหาแนวทางการพัฒนาตัวเองให้กับลูกๆ จนกระทั่งเขาเดินมาถึงก้าวแรกของความสำเร็จในวันนี้ได้ โดยเล่าว่า “คุณแม่ผมเสียชีวิตตั้งแต่ผมยังเล็กๆ คุณพ่อต้องดูแลผมกับน้องเพียงลำพัง ตอนเด็กๆ ครูบอกว่าผมไฮเปอร์ มีสมาธิจดจ่ออยู่กับอะไรอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ คุณพ่อเลยพาไปหัดเล่นเปียโน จึงเล่นมาถึงทุกวันนี้และมีสมาธิดีขึ้น เนื่องจากบ้านกับโรงเรียนอยู่ไกลกัน คุณพ่อจึงเป็นคนขับรถรับ-ส่งผม และน้อง ซึ่งเรียนอยู่คนละโรงเรียนกัน และส่งผมเรียนเปียโนด้วย ทำแบบนี้เป็นเวลาหลายปีติดต่อกันครับ ”

น้องตั้วยังเคยได้รับรางวัลเหรียญทองจากการแข่งขันเปียโนเยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทยครั้งที่ 6 อีกด้วย ถือเป็นตัวอย่างคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้เก่งเฉพาะด้านวิชาการเท่านั้น หากแต่ยังทำได้ดีในทุกๆ เรื่องที่เขารัก และตั้งใจกับมันด้วย

นายสรณภพ เทวปฏิคม หรือ “น้องเกรท” เจ้าของเหรียญทองจากการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับเอเชียครั้งที่ 10 ขณะนี้เกรทพิ่งจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เส้นทางอนาคตของเกรท เขาตั้งใจเรียนด้านฟิสิกส์ตามที่ใจรัก แม้ว่าครอบครัวจะอยากให้เขาเรียนแพทย์ ก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะเขารู้สึกมีความสุขที่จะอยู่กับฟิสิกส์มากกว่า น้องเกรท บอกว่า ฟิสิกส์คือสิ่งที่เขารัก เมื่อรักจึงเกิดแรงจูงใจ และความพยายาม เขาเปรียบเทียบฟิสิกส์เหมือนกับการเล่นเกมส์ ที่มีความท้าทาย และอยากตามหาคำตอบที่ซ่อนอยู่ให้เจอ

ปัจจุบันเขารับทุนจากสสวท. เพื่อเดินทางไปศึกษาต่อด้านฟิสิกส์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และจะเรียนทางด้านเศรษฐศาสตร์ควบคู่ไปด้วย เพราะวิชาคณิตศาสตร์เป็นอีกวิชาที่ เกรท ชอบและเรียนได้ดี รวมทั้งสามารถนำไปใช้กับฟิสิกส์ได้ดีอีกด้วย

นายจิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ หรือ “น้องทิว” ที่ได้เหรียญทองจากการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับเอเชียครั้งที่ 10 เพิ่งจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม และตอนนี้กำลังเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทางด้านฟิสิกส์ ทิวตั้งความหวังไว้ว่าอยากศึกษาด้านฟิสิกส์ต่อในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เพื่อที่จะนำความรู้กลับมาพัฒนาประเทศในอนาคต

น้องทิวเห็นว่า บรรยากาศในการเรียนรู้ โดยเฉพาะโอกาสการเข้าถึงความรู้ใหม่ๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะพัฒนาศักยภาพในตัวของเด็ก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับตัวน้องทิวแล้ว เขาเกิดและเติบโตที่จังหวัดมุกดาหาร ทำให้ตระหนักได้ด้วยตนเองว่าเด็กต่างจังหวัดขาดโอกาสที่จะเข้าถึงความรู้ ขาดแคลนหลายๆ ด้าน แต่นี่ไม่ได้ทำให้เขาหยุดอยู่กับที่

“ตอนที่เรียนอยู่ ม.3 ผมทุ่มเทอย่างมาก เพื่อที่จะเข้าโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ให้ได้ เพื่อแสวงหาบรรยากาศในการเรียนที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ เมื่อได้มาเรียนก็ช่วยพัฒนาตัวเองได้ ทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองผ่านมาแล้วทั้งโรงเรียนที่ขาดโอกาส และโรงเรียนที่มีความพร้อม”

นายวีรภัทร พิทยครรชิต หรือ น้องวี อายุ 16 ปี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เจ้าของเหรียญทองจากการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับเอเชียครั้งที่ 10 มองว่าวิชาที่ใครๆ ก็ว่าโหดหินแต่มีแง่งามที่แตกต่างเพราะเขายืนยันว่า ฟิสิกส์ เป็นเรื่องที่ ท้าทาย และสนุกที่ได้คิด เพราะเขามองทุกอย่างรอบตัวในมุมมองของฟิสิกส์ “ฟิสิกส์เป็นเรื่องของความเป็นเหตุเป็นผล ไม่จำเป็นต้องท่องจำเพราะเป็นคนที่ไม่ชอบท่องจำอยู่แล้ว นี่เองจึงทำให้มีความสุข และชอบวิชาฟิสิกส์ ”

วี ยังเผยเคล็ดลับส่วนตัวในการเรียนให้ได้ดีคือ การฝึกนั่งสมาธิ ซึ่งบางครั้งบางคราวจะไปฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนาที่วัด เพื่อทำจิตใจให้สงบ เมื่อจิตนิ่ง ไม่ว่องแวก สมองก็ปลอดโปร่ง จึงทำให้มีสมาธิในการเรียน นอกจากนี้เขายังบอกว่า เขาเป็นคนที่เรียนแบบสบายๆ เวลาเจอเพื่อนก็เล่นสนุกสนานเหมือนวัยรุ่นทั่วไป แต่สิ่งสำคัญคือ การมีเป้าหมายในชีวิต

“การเข้ามาอยู่โครงการฟิสิกส์โอลิมปิกวิชาการ ทำให้เจอเพื่อน เจอครู เจอบรรยากาศในห้องเรียนที่กระตุ้นให้รู้สึกขยัน กระตือรือร้นที่จะเรียนมากขึ้น การได้เป็นผู้แทนประเทศไทย สำหรับผมจึงทำให้มีเป้าหมายในการเรียนรู้ที่ชัดเจน และมีเส้นทางให้เดินต่อครับ”

ในความเหมือนของหนุ่มน้อยทั้งหมด พวกเขาไม่ใช่แค่มีใจรักในสิ่งที่เรียนและเรียนในสิ่งที่รักเท่านั้น หากแต่พวกเขายังพากเพียร ทุ่มเท ไม่ย่อท้อ ข้อสำคัญยังสะท้อนให้เห็นมุมมองที่สังคมไม่อาจเมินข้ามไปได้.....นั่นคือ พลังความรัก ความเข้าใจของครอบครัว ที่พวกเขาต่างยืนยันให้เห็นแล้วว่าคือพื้นฐานความสำเร็จที่ผลักดันให้พวกเขาก้าวมาถึงหลักชัยในวันนี้

ท่านสามารถเข้าไปอ่านประวัติ และ save ไฟล์ภาพผู้แทนประเทศไทยโอลิมปิกวิชาการ

วิชาต่าง ๆ ได้ที่เว็บไซต์ สสวท. www.ipst.ac.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ