นางวัลลยา แก้วรุ่งเรือง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารกลุ่ม สายงานบริหารความเสี่ยงและกำกับ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ชี้แจงว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับลูกค้ารายนายมนต์ชัย อัศวพรชัยนั้นสามารถแยกเป็น 2 กรณี คือ
กรณีมีการปลอมแปลงบัตรประจำตัวประชาชนของนายมนต์ชัย อัศวพรชัย ไปเปิดบัญชีออมทรัพย์ที่สาขาศูนย์การค้าอยุธยาพาร์ค และมีการโอนเงินผ่านระบบ KTB Online จากบัญชีของนายมนต์ชัย อัศวพรชัยที่สาขาตลาดสี่มุมเมือง จำนวน 410,900 บาท ไปเข้าบัญชีที่สาขาศูนย์การค้าอยุธยาพาร์ค กรณีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของนายมนต์ชัย อัศวพรชัย ที่สาขาตลาดสี่มุมเมือง มีการถอนเงินออกจากบัญชีด้วยบัตร ATM คู่กับรหัสบัตร จำนวน 17 ครั้ง เป็นเงิน 2,329,000 บาท โดยที่เจ้าตัวแจ้งว่าไม่ได้เป็นคนทำรายการสำหรับในกรณีแรก มีการนำบัตรประจำตัวประชาชนปลอม มาเปิดบัญชีที่สาขาศูนย์การค้าอยุธยาพาร์ค เมื่อต้นเดือนเมษายน 2552 นั้น กรณีนี้ธนาคารตกลงชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นให้กับลูกค้าทั้งจำนวน เป็นเงิน 410,900 บาท เนื่องจากเป็นความบกพร่องของธนาคารในการตรวจสอบบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งตามปกติในการเปิดบัญชีใหม่นั้น ธนาคารใช้ระบบ KTB Smart Open Account ซึ่งเป็นการเปิดบัญชีอัตโนมัติ ที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลไปยังกรมการปกครอง สามารถป้องกันการใช้บัตรประชาชนปลอมมาเปิดบัญชี และธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่สามารถเชื่อมข้อมูลดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เนื่องจากในวันที่มีการทุจริตเปิดบัญชีดังกล่าว มีการเปลี่ยนแปลงระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้ ทั้งนี้ ธนาคารได้แจ้งการชดใช้ค่าเสียหายข้างต้นให้นายมนต์ชัย อัศวพรชัย ทราบไปแล้ว 2 ครั้ง แต่ลูกค้ายังมิได้รับเงินไปจากธนาคาร
ส่วนกรณีที่มีการใช้บัตร ATM ของลูกค้า เบิกถอนเงินจากเครื่อง ATM นั้น โดยหลักการแล้ว หากเป็นการใช้บัตรควบคู่กับรหัสบัตร ซึ่งถือเป็นข้อมูลลับ จะอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าของบัตร เว้นแต่จะได้มีการแจ้งอายัดบัตรมายังธนาคารแล้ว อย่างไรก็ตาม ธนาคารไม่ได้นิ่งนอนใจ และอยู่ระหว่างติดตามการทำรายการต่างๆ ซึ่งต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง เนื่องจากมีทำรายการรวม 17 ครั้ง ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2551 ถึงเดือนมีนาคม 2552 และมีการทำรายการที่เครื่อง ATM ของธนาคารต่างๆ
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของธนาคารพบว่า การทุจริตที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ไม่ใช่การแฮกเกอร์ข้อมูลทางระบบ KTB Online ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด และธนาคารขอยืนยันว่าระบบ KTB Online ของธนาคารมีความปลอดภัยและมีระบบการป้องกันที่ดี ปัญหาการแฮกเกอร์โดยทั่วไป มักเกิดจากลูกค้าใช้คอมพิวเตอร์ในการทำธุรกรรมทางการเงินร่วมกับผู้อื่น ซึ่งทำให้ผู้ทุจริตล่วงรู้รหัสและข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า แต่มิใช่เกิดจากความผิดพลาดของระบบ Online ของธนาคาร และที่ผ่านมาเมื่อลูกค้าแจ้งความผิดปกติของรายการ ธนาคารจะช่วยติดตามและตรวจสอบข้อมูลทางการเงินในระบบคอมพิวเตอร์ จนสามารถติดตามผู้ทุจริตได้อย่างรวดเร็ว
ฝ่ายสื่อสารการตลาดและประชาสัมพันธ์ / โทร. 0-2208-4174-7