ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย
วิเคราะห์ประเด็นโดย ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร
ผู้ช่วยรองอธิการบดี และผู้อำนวยการฝ่ายแผนงาน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
คณะกรรมการบริหารนโยบายและคณะทำงานปัญญาสมาพันธ์ฯ
ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยและการสำรวจประชามติของประชาชนไทย ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมทั้งพฤติกรรมทางสังคม และเศรษฐกิจ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 8,000 ตัวอย่างกระจายทั่วประเทศ ตามสัดส่วนจำนวนประชากรในแต่ละภูมิภาค ซึ่งจัดว่าเป็นกลุ่มตัวอย่างสำหรับการสำรวจและวิจัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยครั้งนี้เป็นการสำรวจครั้งที่สองโดยใช้แบบสอบถามชุดเดียวกัน เก็บข้อมูลในช่วงเดือนพฤษภาคมของปีที่แล้ว และปีนี้
ผลการสำรวจในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวล ความสุข สภาพทางการเงินของประชาชน ความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของสภาพเศรษฐกิจ และการดิ้นรนเพื่อหารายได้ ที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค กลุ่มอายุ และอาชีพ
ความทุกข์ ความสุข ที่ยังคลุมเครือ
ความทุกข์ ความสุข ของคนไทยเมื่อปีที่แล้วเทียบกับปีนี้อยู่ในระดับที่ไม่แตกต่างกันนัก โดยผู้ตอบแบบสอบถามที่ตอบว่า ความสุข และความทุกข์ของปีที่แล้วกับปีนี้อยู่ในระดับที่ “พอๆ กัน” มีมากถึง 60.8% ส่วนที่เหลืออีก 39.2% มีความเห็นก้ำกึ่งระหว่างปีที่แล้วกับปีนี้ โดยมีคนที่เห็นว่าปีนี้มีความสุขมากกว่า 19% ส่วนคนที่ตอบว่าปีที่แล้วมีความสุขมากกว่ามี 20%
เมื่อแจกแจงกลุ่มที่มีความเห็นก้ำกึ่งนี้ ตามอายุพบว่า วัยรุ่นอายุ 18-22 ปี และวัยเริ่มทำงานอายุ 23-30 ปี ที่ตอบว่าปีที่แล้วมีความสุขมากกว่ามีจำนวน 24-25% ซึ่งมีจำนวนมากกว่าคนที่ตอบว่าปีนี้มีความสุขมากกว่า ส่วนกลุ่มอายุ 31-40 ปี และ 41-50 ปี มีจำนวนคนที่ตอบว่าปีนี้มีความสุขกว่า มีจำนวน 20-22% ซึ่งมากกว่าคนที่ตอบว่าปีที่แล้วมีความสุขมากกว่า นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างในภาคเหนือมีจำนวนที่เห็นว่าปีที่แล้วมีความสุขกว่าปีนี้มากถึง 31% ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าผู้ที่เห็นว่าปีนี้มีความสุขมากกว่า เช่นเดียวกับภาคอีสาน ส่วนคนที่อยู่ในเมืองตอบว่าปีที่แล้วมีความสุขมากกว่า ในขณะที่คนในชนบทเห็นว่าปีนี้มีความสุขมากกว่า
ความไม่สบายใจกับการพึ่งพาหมอดู
คนไทยกับการพึ่งพาโหราพยากรณ์เป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในยามที่ว้าวุ่นใจ ไม่อาจหาคำตอบแน่นอนตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจในครั้งนี้ ซึ่งสภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไปไม่สู้ดีนัก ตลอดจนสัญญาณฟื้นตัวทั้งหลายยังไม่ชัดเจน ในยุคที่ระดับนโยบายขาดเสถียรภาพอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน การไปดูดวงเพื่อบรรเทาความวุ่นวายใจกลับลดลง
โดยภาพรวมแล้ว จำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ตอบว่า “ดูดวง พยากรณ์ชะตาชีวิต” มากขึ้น มีจำนวน 186 คน คิดเป็น 2.33% ในขณะที่ปีที่แล้วมีจำนวน 426 คน คิดเป็น 5.33% ซึ่งสอดคล้องกับผู้ที่ตอบว่าดูดวงน้อยลงมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2,214 คน คิดเป็น 27.68% ในปีที่แล้ว มาเป็น 2,745 คนคิดเป็น 34.31% ในปีนี้ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่าง 47.71% ตอบว่าไม่ได้ไปดูดวงเลย
คำถามเกี่ยวกับการดูดวง พยากรณ์ชะตาชีวิตในการสำรวจครั้งนี้ เป็นการถามถึงการไปดูดวงในเฉพาะช่วงเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนถึงความไม่สบายใจ ความไม่แน่ใจ หรือความว้าวุ่นใจเป็นหลัก สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นนี้คือ เมื่อพิจารณาประกอบกับความคิดเห็นที่มีต่อสภาพทางการเงินของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งแม้จะปรากฏว่าจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามที่ระบุว่าสภาพทางการเงินของตัวเองเหมือนเดิม ในการสำรวจปีที่แล้วมีจำนวนใกล้เคียงกันกับที่สำรวจได้ในปีนี้ คือประมาณ 59% ของกลุ่มตัวอย่าง แต่กลับพบว่าคนที่มีสภาพทางการเงินแย่ลง มีจำนวน 1,775 คน คิดเป็น 22.2% ซึ่งน้อยกว่าที่สำรวจได้ในปีนี้ ซึ่งมีจำนวน 2,415 คน คิดเป็น 30.2% ในขณะที่ผู้ตอบว่าสภาพทางการเงินของตนเองดีกว่าปีที่ผ่านมามีจำนวนลดลง จาก 1,443 คน คิดเป็น 18% เหลือเพียง 867 คน คิดเป็น 10.8% ในปีนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นสถานะทางเศรษฐกิจของประชาชนที่ยังทรงกับทรุดต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม เมื่อจำแนกผลสำรวจตามเพศแล้ว พบว่าทั้งหญิงและชายที่ตอบว่าดูดวงเพิ่มมากขึ้น ต่างมีจำนวนลดลงจากปีที่แล้วเช่นเดียวกัน โดยที่ผู้ชายมีจำนวนลดลงน้อยกว่าผู้หญิงค่อนข้างมาก กล่าวคือลดลงจากเดิม 4.79% เมื่อปีที่แล้วเหลือเพียง 1.70% ในปีนี้ ในขณะที่ผู้หญิงลดจากเดิม 5.84% เหลือ 2.92%
นอกจากนี้ยังพบว่า กรุงเทพฯ เป็นภูมิภาคเดียวที่ผู้ตอบแบบสอบถามที่ระบุว่าดูดวงพยากรณ์มากขึ้น มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว โดยปีที่แล้วพบว่ามีเพียง 1% ในขณะที่ปีนี้พบว่ามีเพิ่มขึ้นเป็น 4% ส่วนขณะที่ภาคอื่นๆ ล้วนแต่ลดลง
การดิ้นรนฝ่าวิกฤตของคนไทย...หมดไฟ หรือหมดทาง
การสำรวจในครั้งนี้ ได้สอบถามถึงความพยายามในการฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจของคนไทย โดยถามถึงการใช้เวลาในการทำงานเพื่อสร้างรายได้ของกลุ่มตัวอย่าง กลับพบว่าในภาพรวม คนที่ตอบว่ามีการใช้เวลาในการทำงานเพื่อสร้างรายได้น้อยลง มีจำนวนมากขึ้นจากเดิม โดยในปีที่แล้วมีจำนวน 955 คน คิดเป็น 11.93% เพิ่มขึ้นเป็น 1,395 คน คิดเป็น 17.43% ซึ่งจัดว่าเป็นการเพิ่มจำนวนที่ค่อนข้างมาก และรวดเร็ว อีกทั้งยังพบว่า คนที่ตอบว่าใช้เวลาทำงานเพื่อสร้างรายได้มากขึ้น กลับมีจำนวนลดลงจากปีที่แล้ว จำนวน 3,737 คน คิดเป็น 46.7% มาเป็น 3,135 คน คิดเป็น 39.2% ในปีนี้ และคนที่ตอบว่าทำงานเท่าเดิม มีจำนวน 2,998 คน คิดเป็น 37.5% เพิ่มขึ้นเป็น 3,108 คน คิดเป็น 38.9%
การที่คนไทยใช้เวลาในการทำงานเพื่อสร้างรายได้ลดลงนี้ แม้อาจมองว่าความดิ้นรนพยายามเพื่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของตัวเองลดลง หรือยอมรับสภาพและไม่พยายามทำอะไรมากขึ้น แต่ในอีกทางหนึ่งอาจสะท้อนว่าสภานการณ์ปัจจุบันเหลือช่องทางเพื่อให้คนดิ้นรนหาทางแก้ปัญหาลดน้อยลง ทั้งนี้อาจรวมถึงผลกระทบจากการปลดพนักงาน การชะลอการจ้างงานได้เช่นกัน
เมื่อจำแนกการใช้เวลาเพื่อสร้างรายได้ของคนไทย ตามเพศแล้วพบว่า ทั้งหญิง และชายที่ตอบว่าใช้เวลาเพื่อการสร้างรายได้มากขึ้น มีจำนวนลดลง โดยที่เพศหญิงมีจำนวนลดลงมากกว่าเพศชาย กล่าวคือ ในปีที่ผ่านมา เพศหญิงที่ตอบว่าใช้เวลาในการทำงานสร้างรายได้เพิ่มขึ้น มีจำนวน 1,913 คน คิดเป็น 47.18% ในขณะที่เพศชายมีจำนวน 1,824 คน คิดเป็น 46.24% แต่ในการสำรวจปีนี้พบว่า เป็นเพศหญิงจำนวน 1,578 คน ลดลงจากปีที่แล้วถึง 27.45% ในขณะที่เพศชายมีจำนวน 1,557 คน ลดลงไปเพียง 7.98% อาจเป็นด้วยเหตุนี้ที่ทำให้เพศหญิงมีการไปดูดวงพยากรณ์มากกว่าเพศชายในปีนี้ และอาจเป็นไปได้ว่า ในการเลิกจากที่เกิดขึ้นในปีนี้ ผู้หญิงอาจถูกเลิกจ้างมากกว่าผู้ชาย
เป็นที่น่าสังเกตว่า ทุกกลุ่มอายุที่ตอบว่าใช้เวลาทำงานเพื่อสร้างรายได้มากขึ้น มีจำนวนลดลง โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 23-30 ปี และ 31-40 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอายุงานน้อยถึงปานกลาง ซึ่งมีจำนวนลดลงจากปีที่แล้ว 12.86% และ 12.42% ตามลำดับ ซึ่งอาจสะท้อนถึงปริมาณงานที่ลดลง หรือกำลังใจในการทำงานที่ลดลง แต่กลับพบว่ากลุ่มคนที่มีอายุงานค่อนข้างมาก คือกลุ่มอายุ 51-60 ปี ใช้เวลาในการทำงานสร้างรายได้มากขึ้น
เมื่อจำแนกตามภูมิภาค พบว่า กรุงเทพฯ และภาคเหนือ เป็นเพียงสองภูมิภาคที่ ผู้ตอบว่าทำงานมากขึ้น มีจำนวนลดลงอย่างมาก โดยที่กรุงเทพฯ ลดลงจากปีที่แล้ว 21.9 % ส่วนภาคเหนือลดลง 34.19% ในขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่เป็นการเพิ่มในอัตราเพียงเล็กต้อย กล่าวคือภาคอีสานเพิ่ม 3.56% ภาคกลาง 4.73% และภาคใต้ 4.10% อีกทั้งยังพบว่าในเขตเมือง ลดลงมากถึง 10.71% ในขณะที่ชนบทลดลงเพียง 4.12% ดังนั้นเป็นที่คาดหมายได้ว่า ผลิตภาพ (Productivity) ของสินค้าและบริการในกรุงเทพฯ และอีสานจะลดลงมากกว่าภูมิภาคอื่น และในเมืองจะลดลงมากกว่าในชนบท
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า กลุ่มราชการเป็นกลุ่มที่ผู้ตอบว่าทำงานสร้างรายได้เพิ่มขึ้น มีจำนวนลดลงไม่มากนัก ในขณะที่ภาคเอกชนทั้งที่เป็นพนักงาน และค้าขาย ลดลง 17.5% และ 11.35% ตามลำดับ
ภาพสะท้อนสภาพจิตใจของคนไทยในปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แม้จะยังให้ภาพที่คลุมเครือว่าคนไทยมีความสุขมากขึ้น หรือทุกข์มากขึ้น แต่อย่างน้อยก็เป็นสัญญาณที่ดีที่โดยส่วนใหญ่ไม่แย่ลงไปกว่าเดิม แม้ในช่วงเวลาที่เก็บข้อมูลในปีนี้ ความขัดแย้งทางการเมืองได้ถึงขีดสุดอีกครั้ง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคนไทยเริ่มเคยชินและปรับตัวให้อยู่ร่วมกับความไม่สงบเรื้อรังเหล่านี้
แต่สิ่งที่น่าจับตาและน่าเป็นห่วงคือการดิ้นรนทำงานเพื่อฝ่าวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ ที่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งหากแนวโน้มนี้ดำเนินต่อเนื่องไปตลอดทั้งปี โดยที่ไม่มีมาตรการใดๆ กระตุ้นหรือพลิกฟื้นให้ระดับผลิตภาพของคนไทยกลับมาสู่ระดับเดิมโดยเร็วก็จทำให้กลไกเศรษฐกิจของทั้งประเทศค่อยๆ ดับลงทีละภาคส่วน และยิ่งดำเนินการล่าช้าเท่าใด ต้นทุนที่จะต้องใช้เพื่อให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจรีสตาร์ทอีกครั้งก็จะยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น