ศาสตราจารย์อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันการศึกษาของประเทศไทยต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีเอกลักษณ์ของความเป็นไทย สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียง และเมื่อปี 2547 วช. ได้ให้ทุนอุดหนุนการวิจัย แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ทำการวิจัย เรื่อง “การเปลี่ยนผ่านการศึกษาสู่ยุคเศรษฐกิจฐานความรู้” งานวิจัยดังกล่าวได้ศึกษาวิจัยสภาพการจัดการศึกษาของประเทศไทยและการพัฒนาแนวคิด หลักการ สำหรับใช้ในการเปลี่ยนผ่านการศึกษา ซึ่งจากผลการวิจัยนั้นได้นำมาซึ่งหลักการ ข้อมูล เกี่ยวกับสภาพและผลการจัดการศึกษาของประเทศไทย อีกทั้งแนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านการศึกษา “สัตตศิลา” ที่ประกอบด้วย
7 หลักการ ได้แก่ คุณลักษณะผู้เรียนที่พึงประสงค์ การพัฒนาสู่การปฏิบัติที่เป็นเลิศ การบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการ การจัดหลักสูตรที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเป็นรายบุคคล การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การพัฒนาการรู้สารสนเทศ และบทบาทของผู้เกี่ยวข้องในการสร้างโอกาสการเรียนรู้ ซึ่งแนวคิดหรือนวัตกรรมการเปลี่ยนผ่านการศึกษา “สัตตศิลา” ได้นำไปทดลองใช้กับโรงเรียนนำร่อง 10 โรงเรียน ดังนี้ กรุงเทพมหานคร ได้แก่ โรงเรียนปทุมวัน และโรงเรียนพุทธจักร จังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ โรงเรียนหนองอีหนองแคนและโรงเรียนดอนมดแดง, จังหวัดพิษณุโลก ได้แก่ โรงเรียนวัดเสาหินและเฉลิมขวัญสตรี, จังหวัดสงขลา ได้แก่ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาและโรงเรียนเทศบาล 5 และจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้แก่ โรงเรียนวัดโพธิ์แสงกาญจนราษฎร์
และโรงเรียนปากคลองบางขนาก ซึ่งการนำต้นแบบนวัตกรรมสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่เป้าหมายดังกล่าว
ทำให้โรงเรียนสามารถนำไปปรับใช้ได้เหมาะสมกับบริบทของตนเองและขณะนี้โครงนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ วช. จึงได้มีการสัมมนาเผยแพร่ผลงาน ซึ่งการสัมมนาในวันนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของการนำบทเรียน และผลของการดำเนินการวิจัย มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างภาคีนักวิจัยในภูมิภาค อันประกอบด้วยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยท้องถิ่น ผู้บริหารจากเขตพื้นที่การศึกษาและผู้บริหารและครูในโรงเรียน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางการศึกษาจากหน่วยงานต่างๆ ในภูมิภาคกว่า 500 คน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันวางแผนการดำเนินการจัดการศึกษาตามหลักสัตตศิลา กำหนดแนวทางในการปฏิบัติในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง และขยายวงกว้างออกไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 08-5362-4609 เกด (ประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ วช.)