ทั้งนี้ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การจัดให้มีศูนย์อาสาสมัครขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่และประวัติความเป็นมาของมหาวิทยาลัย และผลิตบัณฑิตที่มีลักษณะต้องการให้ความช่วยเหลือคนอื่นมาตั้งแต่ต้น การจัดตั้งศูนย์อาสาสมัครนี้ยังเป็นการจัดระบบอาสาสมัครภาคเอกชนให้เป็นเรื่องเป็นราวเป็นครั้งแรกโดยสถาบันที่มีความต่อเนื่องและมีต้นทุนที่ดีเป็นที่ยอมรับในสังคมไทย เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ระบบการมีจิตอาสา มีจิตสาธารณะมีการจัดกระบวนการบริหารจัดการที่ดี ทำให้การเคลื่อนเรื่องจิตอาสาในสังคมไทยก้าวไปข้างหน้า และจะเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาคุณภาพและปริมาณของคนที่จะเข้าร่วมกิจกรรมในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต
ศูนย์ดังกล่าวเป็นหน่วยงานหลักในการทำงาน และเชื่อมประสานหน่วยงานอื่นๆ ที่ทำงานอาสาทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย พร้อมเปิดพื้นที่ให้นักศึกษามีโอกาสเรียนรู้สังคมรอบข้างผ่านประสบการณ์จริง ไม่ใช่นั่งท่องจำและอ้างอิงแค่ในตำราเรียน แต่งานอาสาสมัครเข้ามาเป็นตัวประสานความเข้าใจแก่นักศึกษา ด้วยการนำ “ความรู้” ไปใช้แก้ปัญหาของชุมชนและสังคมรอบข้างใกล้ๆ ตัว การลงมือปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเองจะทำให้นักศึกษาตั้งคำถามที่เชื่อมโยงความรู้ในห้องเรียนกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมได้ จนตระหนักว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เห็นคุณค่าและพลังของตนในการช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งยังเรียนรู้การเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมต่อไป
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถือเป็นมหาวิทยาลัยไทยแห่งแรกที่มีการจัดตั้งศูนย์อาสาสมัคร ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมูลนิธิสยามกัมมาจลที่ต้องการขับเคลื่อนขบวนการส่งเสริมศักยภาพเยาวชน พร้อมกับเชื่อมโยงเครือข่าย “พูนพลังเยาวชน” โดยให้เขาคิดเอง ทำเอง มีผู้ใหญ่สนับสนุน การสนับสนุนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดตั้งศูนย์อาสาสมัครครั้งนี้ เพื่อให้เป็นหัวขบวนขับเคลื่อนขบวนการจิตอาสาของสังคมไทย หรืออย่างน้อยที่สุดก็อุดมศึกษาไทย เพราะจะเห็นว่านับแต่ปี 2519 เป็นต้นมา จิตวิญญาณด้านจิตอาสาของนิสิตนักศึกษาไทยลดน้อยลงไปอย่างน่ากลัว และหากยังเป็นอย่างนี้ต่อไปสังคมจะยิ่งลำบาก จึงต้องร่วมกันสร้างนักศึกษาที่มีจิตวิญญาณของคนที่สนใจต่อสิ่งรอบข้าง เอาใจใส่ต่อผู้อื่น มีจิตสาธารณะ สนใจปัญหาของบ้านเมือง สนใจปัญหาของคนอื่น และพยายามทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์ของคนอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนใด การสนับสนุนให้เกิดศูนย์อาสาสมัครนี้จึงเป็นการทำงานพัฒนาทั้งความรู้ ทักษะ และวัฒนธรรมจิตอาสาในหมู่นักศึกษาและคนทั่วไป
ด้าน ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา ประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ศูนย์อาสาสมัครมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกิดขึ้นโดยมีแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ของมหาวิทยาลัยในช่วงเหตุการณ์สึนามิ เมื่อปี 2547 ที่ทำให้สังคมไทยเกิดความตื่นตัวในเรื่องอาสาสมัครอย่างกว้างขวาง ขณะนั้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ตั้ง “ศูนย์อาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยชาวต่างประเทศจากภัยสึนามิ” ขึ้นที่วิทยาเขตศูนย์รังสิต โดยมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ และประชาชนเข้ามาเป็นอาสาสมัครจำนวนมาก และ 4 ปีต่อมาในวันนี่จึงมีการตั้งศูนย์อาสาสมัคร เพื่อทำงานเรื่องอาสาสมัครอย่างเป็นทางการ โดยต้องการให้งานอาสาสมัครที่แต่เดิมเป็นเรื่องที่ต้องไปทำในพื้นที่ห่างไกล ยากไร้ ในชนบททุรกันดาร เปลี่ยนมาเป็นเรื่องที่ทำได้ทันที ที่นี่ เดี๋ยวนี้ และทุกวัน ซึ่งรอบ ๆ มหาวิทยาลัยยังมีชุมชนและโรงเรียนที่มีความต้องการให้อาสาสมัครไปช่วยเหลือกัน และหากทุกสถาบันการศึกษาซึ่งปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ใน 66 จังหวัดทั่วประเทศ สามารถมีทิศทางแบบเดียวกันนี้ได้ เปลี่ยนมุมมองใหม่ให้มหาวิทยาลัยเป็นตัวเชื่อมกับชุมชน จะสามารถทำให้ความรู้และการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นจริงที่อยู่รอบ ๆ มหาวิทยาลัย หรือ ทำให้การเรียนการสอนเป็นเรื่องเดียวกับความเดือดร้อนและความทุกข์ยากและปัญหาของสังคมได้อย่างแท้จริงมากขึ้น
สำหรับศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นี้ดำเนินการอย่างไม่เป็นทางการมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 ทำโครงการธรรมศาสตร์อาสาเพื่อชุมชน โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก มูลนิธิสยามกัมมาจล และศูนย์คุณธรรม เกิดโครงการนำร่องที่นักศึกษาเสนอของบประมาณทำกิจกรรมอาสาสมัครกับชุมชนใกล้มหาวิทยาลัยรวม 19 โครงการจากทั้ง 3 วิทยาเขต คือ ท่าพระจันทร์ รังสิต และลำปาง และเกิดผลสำคัญที่ทำให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนแล้ว 10 ชุมชน หากศูนย์อาสาสมัครนี้ประสบความสำเร็จจะเป็นตัวอย่างให้กับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ
นางสาวสุทธิดา แก้วสองสี แกนนำโครงการวันเด็กทุกวัน กล่าวว่า ทำโครงการนี้เพราะต้องการให้เด็ก ๆ ที่โรงเรียนจารุศรบำรุงซึ่งอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัย 2-3 กิโลเมตรได้มีกิจกรรมดี ๆ ทำทุกวัน จึงรวมตัวกับเพื่อนไปทำสนามเด็กเล่นให้น้อง ทำให้ได้สัมพันธ์กับชุมชนซึ่งก็เข้ามาช่วยเหลือเวลานักศึกษาลงไปทำงานเพราะเป็นสิ่งที่เขาต้องการ เพราะลูกหลานเรียนอยู่โรงเรียนนี้
“การทำงานจิตอาสาเหมือนยาเสพติดชนิดดีค่ะ ทำแล้วมีความสุข เวลาเข้าไปทำกิจกรรมกับเด็ก เห็นเขาสนุกสนานมีรอยยิ้ม ในทุกๆ วัน หรือทุกครั้งที่เข้าไปทำกิจกรรม เราก็รู้สึกดีเหมือนช่วยเติมพลังชีวิตให้ตัวเอง ถามว่าเราเป็นผู้ให้หรือเปล่า ตอนนี้ก็ยังไม่แน่ใจค่ะ แต่เป็นผู้รับอย่างแน่นอน คือ ได้เห็นรอยยิ้มของเด็กๆ และตัวเองก็มีความสุขกับสิ่งที่ทำ ถ้าใครอยากลองทำงานอาสา ไม่รู้จะเริ่มต้นที่ไหนก็สามารถมาเริ่มได้ทันทีที่ศูนย์อาสาสมัครแห่งนี้”
ด้าน นายอนุวัฒน์ บัวปาน แกนนำค่ายเยาวชนสืบค้นความรู้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง กล่าวว่า “ความมีจิตอาสา เราสามารถค้นพบด้วยตัวเองโดยใช้กิจกรรมเป็นตัวสื่อ จากการลงมือทำ ผมเชื่อว่าเด็กและเยาวชน อยากทำกิจกรรมที่ดีและสร้างสรรค์ แต่บางครั้งอาจอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้เขาไม่มีโอกาสแสดงออก เขาไม่มีทิศทางหรือแนวทางที่เป็นต้นแบบในการทำกิจกรรม ส่วนหนึ่งผู้ใหญ่น่าจะเข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุน และเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงออกด้วยตัวเองอย่างเต็มที่ ซึ่งศูนย์อาสาสมัครก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งเปิดให้เยาวชนมีโอกาสทำสิ่งสร้างสรรค์ และช่วยเหลือสังคมโดยเริ่มจากชุมชนรอบข้าง”
ในการเปิดศูนย์อาสาสมัคร ครั้งนี้ผู้ร่วมงานได้ร่วมกันวาดสัญลักษณ์รูป “มืออาสา” เพื่อเป็นที่ระลึกสำหรับการเปิดศูนย์ อันสื่อความหมายถึงการทำงานจิตอาสาที่เริ่มต้นได้จากสองมือของทุกคน นักศึกษาและผู้สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.tuvolunteer.org