ตามที่รัฐบาลได้กำหนดมาตรการ “ไทยเข้มแข็ง” เพื่อดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2552 — 2555 ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดทำโครงการซึ่งเน้นการลงทุนที่สำคัญและจำเป็น เพื่อเพิ่มแรงกระตุ้นให้กับระบบเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชน เพิ่มการกระจายการลงทุนด้านบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานสู่ชนบท โดยจะเน้นโครงการที่มีความพร้อมในการดำเนินการได้ทันที และ ในขณะเดียวกัน จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบทและเกษตรกรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ โดยจะต้องสร้างรายได้ กับภาคเอกชนไปพร้อมกัน และเป็นการบรรเทาปัญหาการว่างงานในปัจจุบันด้วย รัฐบาลจึงทำการกลั่นกรองและรวบรวมโครงการต่างๆ กว่า 6,000 โครงการที่สามารถดำเนินการได้ทันทีในระยะสามปีข้างหน้า คิดเป็นวงเงินรวม 1.43 ล้านล้านบาท หรือเท่ากับประมาณร้อยละ 17 ของ GDP หากสามารถทำให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้แล้ว คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราประมาณร้อยละ 1.5 ต่อปี และจะทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 400,000 — 500,000 คน
สำหรับโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีมีพันธกิจ 3 ประการคือ 1. เป็นโรงพยาบาลศูนย์ เป็นพี่เลี้ยงของ 5 จังหวัดภาคใต้ตอนบน (กระบี่ ชุมพร พังงา ภูเก็ต ระนอง) 2. เป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทางเทียบเท่าโรงเรียนแพทย์ ด้านโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และศูนย์อุบัติเหตุ 3. เป็นโรงเรียนแพทย์ผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อ ชาวชนบท แต่สภาพความเป็นจริงในระยะที่ผ่านมา เกิดความขาดแคลนด้านโครงสร้างสถานที่ เนื่องจากที่ผ่านมาโรงพยาบาลได้รับอัตราแพทย์และเครื่องมือเพิ่มเติม แต่ด้านด้านอาคารสถานที่โรงพยาบาลไม่ได้รับเพิ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ทำให้เกิดความแออัดทั้งผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ ดังนี้
1. ความแออัดของผู้ป่วย
- ผู้ป่วยนอก โครงสร้างรองรับได้ 1,000 คนต่อวัน แต่ผู้ป่วยมาใช้บริการประมาณ 2,000 คนต่อวัน ทำให้ต้องดัดแปลงห้องตรวจไปตามทางเดิน ระเบียงห้องประชุมและทางเดินภายในอาคาร เป็นห้องตรวจ
- ผู้ป่วยใน โครงสร้างรองรับได้ 500 เตียง แต่มีผู้ป่วยเข้าพักวันละประมาณ 800 คน ต้องเสริมเตียงตามระเบียงทางเดิน หน้าห้องน้ำและหน้าลิฟต์
2. ความแออัดของเจ้าหน้าที่
- ไม่มีอาคารสนับสนุนด้านบริการ เช่น พัสดุ คลังยา จ่ายกลาง ซักฟอก ฯลฯ ต้องกระจายแทรกไปตามอาคารต่างๆ ซึ่งคับแคบ
- ขาดแคลนที่พักแพทย์และพยาบาล ในหนึ่งห้องพยาบาลอยู่กัน 4 คน แพทย์ต้องอยู่รวมกัน 2 — 3 คน
นายแพทย์ประวิง เอื้อนนทัช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานของโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีต่ำกว่ามาตรฐาน หากได้พัฒนาเพิ่มขึ้น จะทำให้มีโรงพยาบาลมีขีดความสามารถในการรองรับการบริการในการเป็นโรงพยาบาลศูนย์ในเขตภาคใต้ตอนบนได้ ส่วนแผน การดำเนินการต่างๆ เช่น การออกแบบ พร้อมจะดำเนินการได้ทันที เพราะได้เตรียมพร้อมไว้ตั้งแต่ปี 2549 แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทุกอย่างต้องหยุดชะงักลง
อนึ่ง นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าตาม “แผนปฏิบัติการ : ไทยเข้มแข็ง 2555” โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ได้รับเงินงบประมาณจำนวน 1,300 ล้านบาท ตามรายละเอียด ดังนี้
1. อาคารบริการ และสนับสนุนทางการแพทย์ 16 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 31,813 ตารางเมตร พร้อมอุปกรณ์ประกอบอาคาร มูลค่า 560 ล้านบาท
2. อาคารศูนย์บริการโรคหัวใจ มะเร็ง และวินิจฉัยรักษา เป็นอาคาร คสล. 7 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 22,100 ตารางเมตร พร้อมอุปกรณ์ประกอบอาคาร มูลค่า 547 ล้านบาท
3. อาคารพักแพทย์ 88 ยูนิต เป็นอาคาร คสล.8 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 6,991 ตารางเมตร พร้อมอุปกรณ์ประกอบอาคาร มูลค่า 84 ล้านบาท
4. อุปกรณ์การแพทย์อื่นๆ มูลค่า 109 ล้านบาท