อันดับเครดิตของ KBANK สะท้อนถึงความแข็งแกร่งในด้านคุณภาพของสินทรัพย์และฐานะเงินกองทุนของธนาคาร รวมทั้งเครือข่ายการดำเนินงานและบริการภายในประเทศที่แข็งแกร่งในกลุ่มลูกค้าภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภาคธุรกิจขนาดใหญ่และกลุ่มลูกค้าบุคคลของธนาคาร ถึงแม้ว่าผลการดำเนินงานในปี 2552 ของ KBANK คาดว่าจะปรับตัวลดลง เนื่องจากผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงอย่างมากในปี 2552 อัตราส่วนผลกำไรของธนาคารที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งของธนาคาร คาดว่าจะสามารถช่วยรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง
ผลการดำเนินงานของ KBANK สำหรับปี 2551 ยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่งโดยธนาคารมีกำไรสุทธิ 15.3 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับกำไรสุทธิ 15 พันล้านบาท ในปี 2550 แม้ว่าในปี 2551 นั้นค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารได้เพิ่มขึ้นถึง 33% เมื่อเทียบกับปี 2550 ในขณะเดียวกันอัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของธนาคารลดลงเป็น 4.1%ในปี 2551 จาก 4.2% ในปี 2550 เนื่องจากอัตราผลตอบแทนของสินเชื่อที่ลดลง ซึ่งเป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานของธนาคารในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ได้ปรับตัวลดลง โดยธนาคารมีกำไรสุทธิ 3.8 พันล้านบาท ลดลง 14.4% จากไตรมาสที่ 1 ปี 2551 ทั้งนี้กำไรสุทธิที่ลดลงส่วนใหญ่เป็นผลจากค่าใช้จ่ายที่มิใช้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายพนักงานที่สูงขึ้นและการขยายสาขาของธนาคาร รวมทั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง ในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาสที่ 1 ปี 2551 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากเงินฝากของธนาคารที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ ของ KBANK ลดลงเป็น 3.7% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 โดยเป็นผลจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยในการระดมเงินทุนของธนาคารที่เพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อที่ลดลง และสินเชื่อของธนาคารที่หดตัวลง 3% อย่างไรก็ตามความสามารถในการทำกำไรโดยรวมของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยธนาคารมีอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวมและอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่ 1.2% และ 13.3% ณ สิ้น มีนาคม 2552 ตามลำดับ
ตั้งแต่ต้นปี 2552 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ KBANK โดยธนาคารมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเป็น 35 พันล้านบาท หรือ 4.0% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้น มีนาคม 2552 จาก 33.9 พันล้านบาท หรือ 3.7% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2551 ระดับการกันสำรองหนี้สูญของธนาคารที่ 30.6 พันล้านบาท ณ สิ้น มีนาคม 2552 หรือเท่ากับ 87.4% ของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้นั้น อยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยรายอื่น การระดมเงินทุนและสภาพคล่องของ KBANK ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายสาขาของธนาคารที่มีฐานเงินฝากที่แข็งแกร่ง ณ สิ้น มีนาคม 2552 KBANK มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวมของอยู่ที่ 10.2% และ 15.6% ตามลำดับ
KBANK ซึ่งก่อตั้งในปี 2488 โดยตระกูลล่ำซำ เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 13% บริษัทลูกที่สำคัญของธนาคารประกอบธุรกิจบริหารกองทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเช่าซื้อ
ติดต่อ
พชร ศรายุทธ, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4761/4759
การเปิดเผยข้อมูล: บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด ซึ่งถือหุ้น 100% โดยธนาคารกสิกรไทย ถือหุ้นจำนวน 10% ของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีผู้ถือหุ้นใดนอกเหนือจากบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัดแห่งประเทศอังกฤษที่มีส่วนในการดำเนินงานและการจัดอันดับเครดิตที่จัดโดยบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน