ศาสตราจารย์อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในปัจจุบันการส่งออกมะม่วงของประเทศไทยมีมูลค่ามหาศาลและมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยได้ทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ ทำให้ภาษีการนำเข้าลดลงและในปี 2549 พบว่าประเทศไทยส่งออกมะม่วงสดและผลิตภัณฑ์มะม่วงกระป๋อง ประมาณ 23,603 ตัน คิดเป็นมูลค่า 690.49 ล้านบาท พันธุ์มะม่วงที่ส่งออกมาก ได้แก่ เขียวเสวย หนังกลางวัน โชคคอนันต์ น้ำดอกไม้ แรด และอกร่อง ส่วนตลาดสำคัญของมะม่วงสดไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ ตลาดส่งออกมะม่วงกระป๋อง ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง แคนาดา มูลค่าการส่งออกในปี 2549 คิดเป็นร้อยละ 36.13 มะม่วงกระป๋องร้อยละ 63.87 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2548 ปริมาณมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 79.16 และ 38.22 สาเหตุที่ทำให้การส่งออกมะม่วงลดลง เนื่องมาจากเทคโนโลยี ที่เกษตรกรผู้ส่งออก หรือผู้เกี่ยวข้องใช้ปฏิบัติกับมะม่วงภายหลังเก็บเกี่ยวยังไม่ดีเพียงพอ ประกอบกับผลิตผลที่เก็บเกี่ยวจากต้นมาแล้วนั้นยังคงมีชีวิตอยู่และใช้อาหารที่สะสมอยู่เพื่อความอยู่รอด เมื่อผลิตผลใช้อาหารที่สะสมอยู่หมดไป ผลิตผลนั้นก็จะตายไปในที่สุด ดังนั้นหากเกษตรกร ผู้ส่งออก และผู้เกี่ยวข้องรู้และเข้าใจเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวก็จะสามารถนำไปปรับใช้ในงาน ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นการจัดการผลผลิตหรือการส่งออก งานสอน งานวิจัย ทำให้สามารถลดการสูญเสียทั้งทางด้านผลผลิต ทุน แรงงาน และการตลาด อีกทั้งยังสามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น ทำให้สามารถส่งออกผลิตผลไปยังตลาดต่างประเทศที่อยู่ห่างไกลทางเรือได้เป็นปริมาณมากเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศเกษตรกร และภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้วัตถุดิบทางการเกษตร ด้วยเหตุนี้ วช. จึงเห็นควรจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “เทคโนโลยีการผลิตและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออก” ขึ้นในวันนี้ เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยของ วช. เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคโนโลยีจากผู้ทรงคุณวุฒินักวิจัยให้แก่ผู้ประกอบการ เกษตร นิสิต/นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป ตลอดจนการนำเสนอทางเลือกสำหรับนำมาประยุกต์ใช้กับการผลิตมะม่วงพื่อการส่งออกของประเทศต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2561-2445 ประชาสัมพันธ์ วช. และ ภารกิจโครงการและประสานงานวิจัย (ภค.)