ย้ำ ไม่ข้องเกี่ยวทางการเมือง
พลเอกเชษฐา ฐานะจาโร นายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-พม่า คนใหม่ เผยนโยบายส่งเสริมการค้า การลงทุน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ระหว่าง 2 ประเทศ โดยจะไม่ยุ่งเกี่ยวทางด้านการเมือง
พลเอกเชษฐา กล่าวว่าหลังจากที่ได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมฯ คนใหม่ ตนพร้อม ที่จะประสานความร่วมมือระหว่างนักธุรกิจทั้งสองประเทศให้เพิ่มปริมาณการค้าระหว่างสองประเทศให้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ก่ำลังตกต่ำทั่วโลกในขณะนี้
การค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2549 - 2550 นั้น มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 2,400 ล้านดอลลาร์ จาก 1,590 ล้านดอลลาร์ ในปีงบประมาณ 2548-2549 โดยในปีงบประมาณ 2547- 2548 มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศอยู่ที่ 1,400 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับพม่านั้น คิดเป็น 30% ของมูลค่าการค้าของประเทศพม่าทั้งหมด 7,400 ล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2549 — 2550
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าให้กับประเทศพม่ามาอย่างต่อเนื่อง โดยฝ่ายประเทศไทยนั้น มีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศพม่า ส่วนการส่งออกจากประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค
ในช่วงปีงบประมาณ 2549-2550 นี้ พม่าได้เปรียบดุลการค้ากับไทยอยู่ 1,900 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 70% จากที่เคยได้เปรียบดุลเพียง 1,123 ล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2548-2549
“ปีนี้ ต้องยอมรับว่าภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ ทำให้มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่ว่าในบทบาทของสมาคมฯ นั้น น่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้การค้าทั้งสองประเทศไปในทิศทางบวกได้เพราะสมาชิกของสมาคมฯ นั้น เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการค้าและการลงทุน ผมได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าการค้าของสองประเทศภายในปีนี้ น่าจะมีความเจริญเติบโต” พลเอกเชษฐากล่าว
ประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่มีนักธุรกิจไปลงทุนในประเทศพม่าในอันดับหนึ่งในสามของประเทศพม่า โดยนักธุรกิจไทยได้ลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่นอุตสาหกรรมการเกษตร การประมง อุตสาหกรรมหนักเช่นปูนซิเมนต์ อุตสาหกรรมน้ำตาล ปิโตรเลียม และธุรกิจบริการเช่นโรงแรม เป็นต้น
พลเอกเชษฐากล่าวว่า สมาชิกสมาคมฯ มีความพร้อมที่จะเพิ่มการลงทุนในประเทศพม่าเพิ่มขึ้นหากบรรยากาศการลงทุนในประเทศพม่าอำนวย อีกทั้งหากรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าสามารถร่วมมือกันเพื่อขจัดปัญหาและอุปสรรคของการลงทุนทั้งสองประเทศแล้ว เชื่อว่าปริมาณการค้าและการลงทุนจะต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
“ภายใต้การนำของผมนั้น ผมจะเดินตามนโยบายของสมาคมฯ ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในประเทศพม่า เราจะมุ่งเน้นในเรื่องการค้า การลงทุนและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม” พลเอกเชษฐากล่าว
“ผมเชื่อมั่นว่าผมน่าจะสามารถประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนได้ดีที่จะลดข้อจำกัดและทำลายอุปสรรคที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ลดลงเพื่อให้การค้าและการลงทุนคล่องตัวขึ้น” พลเอกเชษฐากล่าว
นายกสมาคมฯ กล่าวถึงภาคการท่องเที่ยวว่าการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับพม่านั้น นับว่ามีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพราะผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวระหว่างไทย-พม่านั้นมีจำนวนมาก และที่สำคัญ ในแต่ละปี นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยและท่องเที่ยวต่อในประเทศพม่าผ่านผู้ประกอบการท่องเที่ยวในประเทศไทยมีจำนวนมาก ดังนั้น หากผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย จะสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศไทย
สำหรับวิธีการกระตุ้นการค้า การลงทุนระหว่างสองประเทศนั้น พลเอกเชษฐากล่าวว่าตนจะนำคณะนักธุรกิจและนักลงทุนชาวไทยเดินทางไปยังประเทศพม่าเพื่อรับทราบปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ขณะเดียวกัน ก็จะสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศด้วย