นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ แชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัย World RoboCup Rescue 2009 เดินทางกลับจากออสเตรียถึงเมืองไทยแล้ว ท่ามกลางความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ อาจารย์และเพื่อนๆ พร้อมสื่อมวลชนต้อนรับอย่างอบอุ่นที่สนามบิน ด้านสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย มุ่งต่อยอด เตรียมจัดทำแผนโครงการยุทธศาสตร์หุ่นยนต์แห่งชาติ นำหุ่นยนต์ใช้งานจริงในอนาคต
นางวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เอสซีจี ในฐานะผู้สนับสนุนการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยไทย และส่งเยาวชนไทยเข้าร่วมการแข่งขัน World Robocup Rescue 2009 กล่าวว่า ทีม iRAP_PRO นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศด้วยการคว้าแชมป์โลกเป็นสมัยที่ 4 ในการแข่งขัน World RoboCup Rescue 2009 ที่เมืองกราซ ประเทศออสเตรีย ความสำเร็จในครั้งนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าเด็กไทยมีศักยภาพไม่แพ้ชาติใดในโลกถ้าได้รับการพัฒนาอย่างถูกทาง ทั้งนี้เอสซีจียังคงมุ่งมั่นสนับสนุนเด็กไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการตื่นตัวกับนวัตกรรมใหม่ๆ ในเรื่องของเทคโนโลยี และองค์ความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนกับชาวต่างชาติ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งให้เด็กเหล่านี้ได้มีการพัฒนาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต และสำหรับเยาวชนที่มีความสนใจเกี่ยวกับหุ่นยนต์และอยากจะดำเนินรอยตามรุ่นพี่ที่ผ่านเวทีนี้ เอสซีจีก็กำลังเปิดโอกาสให้น้องๆ มาสมัครแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย เพื่อค้นหาตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันเวทีโลก Robocup Rescue 2010 พร้อมชิงทุนการศึกษากว่า 700,000 บาท โดยผู้ชนะจะได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยสามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 15 กันยายน 2552
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความสามารถของเด็กไทยเป็นที่ยอมรับของเวทีโลก และหุ่นยนต์กู้ภัยของเราก็มีความโดดเด่นอย่างมาก ในขณะที่ทีม iRAP_PROก็เตรียมความพร้อมมาอย่างดี แต่เราต้องยอมรับว่าทุกประเทศต่างก็ตื่นตัวเรื่องการพัฒนาหุ่นยนต์กันมาก หลังจากที่ไทยครองแชมป์ติดต่อกันมาหลายปี จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทีมเด็กไทยจะต้องพัฒนาให้มากยิ่งขึ้น หากเราย่ำอยู่กับที่ ประเทศอื่นๆ อาจตามทัน เด็กไทยมีความสามารถไม่แพ้ชาติชาติที่มีเทคโนโลยีสูง ๆ แต่ขาดเรื่องการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง จึงอยากให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาร่วมกันสนับสนุนอย่างจริงจัง และเด็กเหล่านี้จะสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศได้
“ขณะนี้รัฐบาลได้งบประมาณ 250 ล้านบาท เพื่อสานต่อโครงการยุทธศาสตร์หุ่นยนต์ ตามแผนแม่บทหุ่นยนต์แห่งชาติ ซึ่งหลังจากนี้ก็จะมีการจัดทำแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อรองรับ อาทิ การจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบโดยตรง รวมไปถึงการจัดทำแผนส่งเสริมการวิจัย เพื่อจะนำหุ่นยนต์ไปใช้ในงานต่างๆ ในอนาคต เช่น ใช้ในด้านการเกษตร ด้านการแพทย์ ด้านอุตสาหกรรม รวมไปถึงด้านความมั่นคงอย่าง เช่น หุ่นยนต์กู้ภัยที่เด็กไทยกำลังสร้างชื่อเสียงอยู่ในขณะนี้ โดยคาดว่าจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างในเดือนตุลาคม 2552”
คฑาวุฒิ อุชชิน หรือน้องโฟม ผู้บังคับหุ่นยนต์ทีมไทย iRAP_PRO กล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า ทีม iRAP_PRO มาถึงจุดนี้ได้ เพราะความร่วมมือและความสามัคคีของทุกคนในทีม ซึ่งเป้าหมายไม่ใช่การแข่งขันเพื่อชัยชนะ แต่เป็นประสบการณ์และความรู้ที่แลกเปลี่ยนกับทีมต่างชาติที่เข้าร่วมแข่งขัน โดยจะนำความรู้ที่ได้มาต่อยอดพัฒนาผลงานของทีมให้แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งเผยแพร่ให้น้องๆ รุ่นต่อไปได้ศึกษาและพัฒนาศักยภาพของหุ่นยนต์กู้ภัยให้มีสมรรถนะสูงสุด จนสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้จริง ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติในอนาคต
อ.ชัชชัย เสริมพงษ์พันธ์ อาจารย์ที่ปรึกษาทีม iRAP_PRO เปิดเผยว่า หุ่นยนต์ของทีมไทยเป็นที่ชื่นชอบของบรรดาผู้เข้าร่วมชมการแข่งขัน โดยมีเด็กต่างชาติให้ความสนใจและขอถ่ายรูปร่วมกับหุ่นยนต์จำนวนมาก นอกจากนี้ ทีมจากประเทศอื่นๆ ยังเข้ามาพูดคุยและขอคำแนะนำจากทีม iRAP_PRO เนื่องจากหุ่นยนต์ของประเทศไทยมีศักยภาพสูงมาก ขณะที่ต้นทุนการประดิษฐ์และเทคโนโลยีไม่สูงเท่าประเทศอื่น นอกจากนี้ ทีมต่างชาติยังส่งทีมเข้าแข่งขันมากกว่าทีมไทย เช่น อิหร่านส่ง 6 ทีม ญี่ปุ่นส่ง 4 ทีม และเยอรมนีส่ง 3 ทีม แต่ประเทศไทยส่งทีม iRAP_PRO เพียงทีมเดียว สามารถเอาชนะผู้เข้าแข่งขันได้ด้วยคะแนนนำอันดับหนึ่ง สร้างความภาคภูมิใจกับมหาวิทยาลัยฯ และคนไทยทั่วประเทศ
World RoboCup เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 แบ่งการแข่งขันออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ หุ่นยนต์กู้ภัย (RoboCup Rescue) หุ่นยนต์ฟุตบอล(RoboCup Soccer) หุ่นยนต์ทำงานบ้าน (RoboCup @Home) และหุ่นยนต์ระดับเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี (RoboCup Junior) โดยในปี 2009 นี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-5 กรกฎาคม ที่เมืองกราซ ประเทศออสเตรีย มีผู้สมัครเข้าแข่งขันหุ่นยนต์ทุกประเภทกว่า 300 ทีม จากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก
สำหรับการแข่งขันประเภท World RoboCup Rescue หรือหุ่นยนต์กู้ภัยโลก ทีมเยาวชนไทยได้เข้าร่วมแข่งขันครั้งแรกในปี 2005 และได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศโดยคว้าแชมป์โลก ติดต่อกันมาเป็นปีที่ 4 โดยปี 2006 และ 2007 แชมป์โลกจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปี 2008 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และล่าสุด ปี 2009 จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งได้แก่ นายคฑาวุฒิ อุชชิน นายสุรเชษฐ์ อินเทียม นายณัฐกร แซ่เอี้ยว นายธีรวัฒน์ เบ็ญจวิไลยกุล นายสุธี คำใจคง นายภราดร ทับทิมแดง นายอาทิตย์ ตระกูลธงชัย นายประพันธ์ คล้ายฤทธิ์ นายวิษณุ จิตวิริยะ และนายกฤษฎา เจริญนิเวศนุกูล
สอบถามข้อมูลข่าวเพิ่มเติมได้ที่:
กุลชา ตัณฑวณิช
สำนักงานสื่อสารองค์กร เอสซีจี
อีเมล์ [email protected]
โทร. 0 2586 3778 แฟกซ์ 0 2586 2974