สำหรับข้อสรุปการหารือเห็นร่วมกันว่า หากมีการพบว่าผู้ป่วยที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาลของกทม. ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือเป็นผู้ต้องสงสัย จะให้การรักษาโดยใช้ยาทามิฟลู (Tamiflu) ทันที โดยยาที่ให้จะมี 2 รูปแบบ คือ โอเซลทามิเวียร์(Oseltamivir) ที่มีรูปแบบแคปซูล และซานามิเวียร์ (Zanamivir) มีรูปแบบเป็นยาพ่นจมูก ทั้งนี้อาการป่วยของผู้ป่วยบางรายอาจเกิดการติดเชื้อที่ปอดทำให้ปอดอักเสบหรือปอดบวมที่เรียกว่าภาวะนิวโมเนีย (Pneumonia) จะต้องให้การรักษาในทันทีไม่ต้องรอผลการวินิจฉัยจากห้องทดลองปฏิบัติการ แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีอาการอย่างอื่นต้องรอดูอาการจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะแล้วรักษาตามอาการ
สำหรับความพร้อมของโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร มีความพร้อมทั้งบุคลากร เครื่องมือ เวชภัณฑ์ และวิธีการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ แต่ปัญหาขณะนี้คือการสร้างทีมงานเฉพาะการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ โดยผู้บริหารกรุงเทพมหานครมีนโยบายให้สร้างทีมงานโดยด่วน เนื่องจากข้อมูลที่รายงานมีผู้ป่วยเข้ารับการตรวจในโรงพยาบาล 4 แห่งข้างต้นระหว่าง 9-11 ก.ค. 52 มีจำนวนกว่า 6,000 ราย เข้าเป็นคนไข้ในที่มีอาการสงสัยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จำนวน 56 ราย พบเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จำนวน 22 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 1 ราย จากโรคประจำตัวแทรกซ้อนซึ่งจากสถิติเชื่อว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประชาชนรับทราบข้อมูลเรื่องไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ไม่รอบด้าน ทำให้เกิดความตระหนก ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ระดมกำลังในเชิงรุก โดยให้ทุกโรงพยาบาลในสังกัดจัดให้บริการแบบ One Stop Service เพื่อคัดกรองผู้ป่วยทำการรักษาและรับยา โดยไม่ปะปนกับผู้ป่วยทั่วไป พร้อมเพิ่มแพทย์ พยาบาล นอกเวลาให้บริการประชาชน อีกทั้งจัดพยาบาลประจำทุกสำนักงานเขตถึงเวลา 22.00 น. เพื่อให้คำแนะนำปรึกษา สร้างความรู้ความเข้าใจประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการประชาชน ส่วนโรงเรียนในสังกัดได้แจ้งให้ครูพยาบาลตรวจตราและให้คำแนะนำเด็กนักเรียนพร้อมประสานกับศูนย์บริการสาธารณสุขเพื่อจัดระบบส่งต่อหากมีนักเรียนป่วยและต้องสงสัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ด้วย