กทม.จับมือไมโครซอฟท์พัฒนาศักยภาพการศึกษาให้นักเรียนสังกัดกทม.

พฤหัส ๑๖ กรกฎาคม ๒๐๐๙ ๑๕:๑๑
กรุงเทพมหานครร่วมกับไมโครซอฟท์กระจายการเรียนรู้สู่นักเรียนในโครงการด้านการศึกษา “Microsoft Education Alliance” ผ่านโปรแกรม “Microsoft MultiPoint” ซอฟต์แวร์เพื่อการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม และโปรแกรม “Microsoft Accessibility” ช่วยลดช่องว่างการเรียนรู้สำหรับนักเรียนพิการ เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษาใน 435 โรงเรียนทั่วกรุงเทพฯ พร้อมนำร่องเปิดอบรมครูในการใช้สื่อการเรียนรู้ในเดือนกันยายน และเปิดการสอนนักเรียนชั้นประถมได้ในภาคเรียนที่ 2 /2552 นี้

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามในบันทึกความร่วมมือในโครงการ “Microsoft Education Alliance” ร่วมกับบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) เพื่อความร่วมมือด้านการศึกษา ขยายโอกาสการเรียนรู้อย่างไม่มีขีดจำกัดสำหรับครูและนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 435 แห่ง โดยการนำเทคโนโลยีมาบูรณาการเข้ากับการศึกษา ได้แก่ โปรแกรม “Microsoft MultiPoint” ซอฟต์แวร์มหัศจรรย์เพื่อการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม และโปรแกรม “Microsoft Accessibility” ที่ช่วยลดช่องว่างการเรียนรู้สำหรับนักเรียนพิการ ซึ่งจะมีการจัดฝึกอบรมการใช้โปรแกรมต่างๆ ให้กับครูสังกัดกรุงเทพมหานครในระดับประถมศึกษาทั้งหมด 435 โรงเรียน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 145 โรงเรียน เริ่มอบรมรอบแรกในวันที่ 10-11 กันยายน 2552 รอบที่ 2 ในวันที่ 15-16 กันยายน และรอบที่ 3 ในวันที่ 17-18 กันยายน 2552 ทั้งนี้ จะเปิดทำการเรียนการสอนให้กับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษากว่า 3 แสนคน รวมถึงนักเรียนพิเศษซึ่งเป็นผู้พิการ จำนวน 1,800 คนของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครได้ในภาคเรียนที่ 2/2552 นี้

ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยพยายามจัดสรรให้ประชาชนและชุนชนได้มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งความรู้และข้อมูลให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในส่วนของการศึกษาในระบบนั้น จะเน้นเรื่องของการพัฒนาในทุกๆ ด้านที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน การจัดระบบการศึกษา การพัฒนาครูและนักเรียน รวมไปถึงการนำสื่อการสอนรูปแบบใหม่มาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในเรื่องการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และสร้างความกระตือรือร้นด้านการศึกษาของครูและนักเรียน ซึ่งในขณะนี้กรุงเทพมหานครได้เดินหน้าจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 20,500 เครื่อง เพื่อนำมาใช้ในการเรียนการสอนของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยตั้งเป้าให้โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครมีคอมพิวเตอร์ใช้อย่างน้อยโรงเรียนละ 41 เครื่อง

ทั้งนี้ บริษัทไมโครซอฟท์ในฐานะที่เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีจึงนำความเชี่ยวชาญมาสนับสนุนในโครงการ “Education Alliance” เพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพทางการศึกษาให้กับครูและนักเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยความร่วมมือในครั้งนี้จะมีการนำเทคโนโลยีที่น่าสนใจของไมโครซอฟท์มาใช้กับการศึกษา ได้แก่ การนำ Microsoft MultiPoint มาพัฒนาการศึกษาทั้งในและนอกห้องเรียนสำหรับโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรก โดยนำมาบูรณาการกับการเรียนการสอนใน 8 กลุ่มสาระวิชา อาทิ วิชาคณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้นำหลักสูตร Microsoft Accessibility มาใช้ เพื่อขยายโอกาสการเรียนรู้อย่างเท่าเทียมกันทั้งครู นักเรียนปรกติ และนักเรียนพิเศษในโรงเรียนเรียนร่วมสังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งที่ผ่านมานักเรียนพิเศษ เช่น นักเรียนที่พิการทางสายตา พิการทางร่างกายอื่นๆ อาจจะไม่ได้รับความเท่าเทียมกันในการเรียนรู้ แต่ปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนามากขึ้น การเรียนรู้หรือการฝึกทักษะต่างๆ ก็ควรเป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้มีโอกาสเรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์อย่างทั่วถึง

สำหรับการสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการศึกษาในโครงการความร่วมมือ Microsoft Education Alliance ประกอบด้วยโปรแกรม Microsoft MultiPoint Program ซึ่งพัฒนาโดยแผนกวิจัยของไมโครซอฟท์ ที่มีจุดประสงค์เพื่อขยายโอกาสในการเรียนรู้เทคโนโลยีแก่ผู้ที่มีข้อจำกัด โปรแกรมไมโครซอฟท์มัลติพอยท์ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องสามารถรองรับการใช้งานของนักเรียนได้จำนวน 3-50 คนพร้อมๆ กัน โดยนักเรียนแต่ละคนสามารถใช้เมาส์ของตัวเองควบคุมเคอร์เซอร์ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษบนหน้าจอและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันทั้งหมด โปรแกรมนี้ไม่เพียงแต่ให้ทางออกสำหรับข้อจำกัดด้านงบประมาณ แต่ยังสร้างประสบการณ์เรียนรู้ที่สร้างสรรค์และเน้นการส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วม และสามารถดึงความสนใจของนักเรียนทุกคนได้โดยไม่จำกัดโอกาสใช้คอมพิวเตอร์อยู่ที่นักเรียนคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ส่วน Microsoft ICT Accessibility เป็นหลักสูตรที่แนะนำโปรแกรมสนับสนุนการใช้งานคอมพิวเตอร์สำหรับผู้พิการที่มีปัญหาในการเคลื่อนไหวหรือการมองเห็น โดยจะสนับสนุนการทำงานของผู้พิการซึ่งไม่จำกัดเฉพาะว่าต้องเป็นผู้พิการทางสายตา หรือร่างกายเท่านั้น สำหรับผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ บกพร่องทางด้านสายตา หรือแขนหักก็สามารถเรียนรู้ที่จะใช้โปรแกรมนี้ช่วยในการทำงานหรือสื่อสารกับผู้อื่นได้ โดยเปิดโอกาสให้ผู้พิการที่มีปัญหาทางสายตาหรือผู้พิการทางการเคลื่อนไหวได้มีโอกาสใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป และยังเป็นการลดช่องว่างในการเรียนรู้อีกด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ