อธิบดี ขน. กล่าวว่า สำหรับโครงการท่าเรือเชียงแสน 2 นั้น หากแล้วเสร็จจะมีศักยภาพสามารถรองรับการขนส่งสินค้าบริเวณภาคเหนือตอนบนได้อย่างน้อย 28 ปี รองรับสินค้าได้สูงสุดที่ 8.9 ล้านตัน/ปี (ล่าสุดในปี 2551 ท่าเรือเชียงแสน ระยะแรก มีปริมาณอยู่ที่ 153,480 ตัน/ปี) สามารถรองรับเรือสินค้าขนาดสูงสุดประมาณ 500 ตันหรือประมาณ 350 ตันกรอส ได้ ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 1,546.40 ล้านบาท
ท่าเรือเชียงแสน 2 มีศักยภาพในการเชื่อมโยงภาคการขนส่งระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และจีนตอนใต้รวมทั้งเชื่อมโยงการขนส่งมายังภาคกลางที่ท่าเรือแหลมฉบัง และทางใต้ที่ท่าเรือระนองเพื่อการส่งออก ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางหรือประตูสู่การค้าในภูมิภาคอินโดจีน
สำหรับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล จะเป็นประตูในการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยรองรับการนำเข้า-ส่งออกทางฝั่งตะวันตกระหว่างไทยกับชมพูทวีป ตะวันออกกลาง ทวีปยุโรปและทวีปแอฟริกา ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพกาารแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทย และรองรับความสะดวก และประหยัดในการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังฝั่งตะวันตก โดยมีงบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 11,466.20 ล้านบาท
และล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการและอนุมัติให้ ขน. ดำเนินโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ จ.ตราด ในวงเงินก่อสร้างทั้งสิ้น 1,295.67 ล้านบาท เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าไปประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา และเวียดนามตอนใต้ ที่มีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 15,000 ล้านบาท/ปี
สำหรับนโยบายที่จะเสริมสร้างความปลอดภัยการคมนาคมทางน้ำนั้น ขน. ได้มีการติดตั้งระบบโทรทัศน์วงจรปิดตลอดลำน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท่าน้ำนนทบุรีจนถึงท่าน้ำพระสมุทรเจดีย์ จำนวนรวม 27 สถานี 61 กล้อง คิดเป็นระยะทางรวม 48.2 กม. ซึ่งศูนย์ปลอดภัยทางน้ำแต่ละจุดสามารถติดต่อกับศูนย์ควบคุมปฏิบัติการโทรทัศน์วงจรปิดทางน้ำได้ตลอด 24 ชม. พร้อมรองรับการประสานไปยังส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังมีระบบประชาสัมพันธ์ผ่านป้ายอักษรวิ่งคอมพิวเตอร์ (LED) และระบบเสียงตามสายเพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารความปลอดภัยต่างๆ ไปยังประชาชนที่ใช้บริการทางน้ำได้อีกด้วย