ผู้ช่วยศาสตราจารย์กนก โตสุรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏ ศรีสะเกษ หนึ่งในมหาวิทยาลัยคุณภาพมาตรฐานชั้นนำในพื้นที่เขตอีสานใต้ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2540 เพื่อเป็นแหล่งการศึกษาสำหรับคนในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษและใกล้เคียง โดยเปิดสอน 40 โปรแกรมวิชา ด้วยความพร้อมและศักยภาพเต็มร้อยทั้งด้านบุลคลการ หลักสูตรการเรียนการสอน เทคโนโลยีด้านการศึกษาที่ทันสมัยและตอบสนองความต้องการของคนในท้องถิ่น จึงทำให้มหาวิทยาลัยฯ ผลิตบัณฑิตคุณภาพสู่ตลาดแรงงานกว่า 7 รุ่น ปัจจุบันมีนักศึกษาประมาณ 6,599 คน เป็นคนในจังหวัด ศรีสะเกษ 95% และจากพื้นที่ใกล้เคียงและประเทศเพื่อนบ้านประมาณ 5% เช่น นักศึกษาจากประเทศจีน เวียตนาม กัมพูชา และลาว ล่าสุดมหาวิทยาลัยสร้างมิติใหม่ให้กับสถาบันการศึกษาท้องถิ่น ด้วยการเปิดศูนย์นวัตกรรมสื่อเพื่อการพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้และฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษาเป็น แหล่งสนับสนุนการผลิตและเผยแพร่สื่อทุกรูปแบบ เป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมสื่อเพื่อการพัฒนาที่ได้มาตรฐานแก่สาธารณชน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการด้านนวัตกรรมสื่อเพื่อการพัฒนาของหน่วยงานต่างๆ ในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ ในลักษณะของการเชื่อมโยงศาสตร์สาขาวิชาต่างๆ เชิงบูรณาการ อาทิ นิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ วัฒนธรรมศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ วิทยาการสารสนเทศ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา และการบริหารจัดการ ที่สำคัญเป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับนักศึกษาในต่างจังหวัดได้มีโอกาสเรียนรู้ ทดลองและฝึกการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ในการผลิตสื่อที่ทันสมัยระดับสถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีโทรทัศน์ในปัจจุบัน โปรดั๊กชั่นเฮ้าส์ชั้นนำและมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ และยังเป็นการเตรียมความพร้อมอย่างมืออาชีพให้นักศึกษา เพื่อก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต
ศูนย์นวัตกรรมสื่อเพื่อการพัฒนา ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการโทรทัศน์ (Broadcast Studio) ห้องปฏิบัติการสำหรับการถ่ายทำรายการโทรทัศน์ วีดีทัศน์ ภาพยนตร์ บันทึกเสียง พร้อมกล้องถ่ายทำระดับมืออาชีพ ระดับเดียวกับโปรดั๊กชั่นเฮ้าส์ชั้นนำและมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ห้องปฏิบัติการตัดต่อวีดีโอ (Video Editing Studio) ประกอบด้วยชุดตัดต่อ จำนวน 3 ชุด ต่อเชื่อมเป็นเครือข่าย เป็นเครื่องมือระดับเดียวกับที่สถานีโทรทัศน์ในปัจจุบันใช้งานอยู่ ห้องปฏิบัติการมัลติมีเดียและแอนิเมชั่น (Multimedia and Animation Studio) พร้อมด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย ห้องปฏิบัติการวิทยุกระจายเสียง (Radio Studio) เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสทดลองการจัดรายการวิทยุ โดยปัจจับุนออกอากาศรายการวิทยุท้องถิ่นที่คลื่น FM 91.0 Mkz ห้องปฏิบัติการบันทึกเสียง (Sound Recording Studio) ห้องควบคุมการผลิตรายการโทรทัศน์ (Control Room) ห้องปฏิบัติการสื่อสิ่งพิมพ์ (Printing Media Studio) และห้องปฏิบัติการภาพนิ่ง (Photography Studio)
ศูนย์นวัตกรรมสื่อเพื่อการพัฒนาแห่งนี้ จะเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีสื่อเพื่อการเรียนการสอนและการผลิตสื่อที่ทันสมัยของอาจารย์ นักศึกษา และประชนชนที่สนใจทั่วไป สามารถเข้ามาเรียนรู้และฝึกการใช้เทคโนโลยีการผลิตรายการวิทยุ โทรทัศน์ และสิ่งพิมพ์ที่ทันสมัยได้ด้วยตนเอง ขณะเดียวกันอาจารย์หรือคุณครูในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา มัธยมศึกษา ประถมศึกษา ตลอดจนหน่วยงานเอกชน หน่วยงานของรัฐต่างๆ ที่ต้องการผลิตสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยให้กับนักศึกษา หรือนักเรียนก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้ โดยแจ้งความประสงค์มายังมหาวิทยาลัยฯ ว่าต้องการผลิตสื่อวีดิทัศน์ หรือสิ่งพิมพ์แบบใด มหาวิทยาลัยก็จะดำเนินการให้
ในอนาคตศูนย์นวัตกรรมสื่อเพื่อการพัฒนาแห่งนี้ จะยกฐานะขึ้นเป็น วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อเพื่อการพัฒนา (The College of Media Innovation for Development : CMID) เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของสังคมได้อย่างหลากหลาย อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของมวลมนุษยชาติอย่างยั่งยืนต่อไป และจะเป็นศูนย์กลางที่นักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา ลาว เวียตนาม หรือจีน สามารถเข้ามาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยได้ ไม่จำเป็นต้องเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เพราะมหาวิทยาลัยมีความพร้อมและศักยภาพที่จะผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและศักยภาพเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ผู้ช่วยศาสตราจารย์กนก โตสุรัตน์ กล่าวในที่สุด