ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเล ทช. ได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการบริหารสมุทรศาสตร์ระหว่างประเทศ

ศุกร์ ๑๗ กรกฎาคม ๒๐๐๙ ๑๕:๔๘
กรรมการบริหารสมุทรศาสตร์ระหว่างประเทศ (IOC) ได้คัดเลือก ดร.เจิดจินดา โชติยะปุตตะ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นกรรมการบริหารองค์กร UNESCO/ IOC ในการประชุม UNESCO/ IOC Assembly ครั้งที่ 25 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส พร้อมหนุนให้ประเทศสมาชิกมีระบบเครือข่ายด้านการเตือนภัย ที่ประสานกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ที่มีประสิทธิภาพ ในขณะที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเตรียมจัดประชุมวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล และการสำรวจสมุทรศาสตร์ทางฝั่งทะเลอันดามัน ร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี IOC

ภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านสมุทรศาสตร์ ในฐานะที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เป็นผู้ประสานงานหลักในประเทศไทยของคณะกรรมการสมุทรศาสตร์ระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Oceanographic Commission : IOC) และดูแลสำนักเลขาธิการผู้ประสานงานภูมิภาคแปซิฟิกด้านตะวันตก (IOC Sub-Commission for the Western Pacific : IOC/WESTPAC) ดร.เจิดจินดา โชติยะปุตตะ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงได้เข้าร่วมการประชุม “The 42nd Session of the IOC Executive Council” และ “The 25th Session of the IOC Assembly” ในระหว่างวันที่ 15-25 มิถุนายน 2552 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

ดร.เจิดจินดา โชติยะปุตตะ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสมุทรศาสตร์ระหว่างรัฐบาล (IOC) เป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนของ UNESCO ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนประเทศสมาชิกในกระบวนการความร่วมมือด้านการศึกษา วิจัย สังเกตการณ์และดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทางทะเลและมหาสมุทร ซึ่งการประชุม Executive Council เป็นการประชุมคณะกรรมการขององค์กร UNESCO/ IOC จัดขึ้นทุกปี โดยคณะกรรมการบริหารดังกล่าวมีวาระ 2 ปี สำหรับการประชุม UNESCO/IOC Assembly เป็นการประชุมใหญ่ของประเทศสมาชิกทั้งหมด ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 25 ประเทศไทย โดยตนเป็นผู้แทนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รับคัดเลือกให้เป็นกรรมการบริหารดังกล่าว ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับเลือกเข้าเป็นคณะกรรมการบริหาร (Executive Council) ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา

การประชุมสมัชชาครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 25 โดยที่ประชุมได้เน้นถึงความสำคัญของมหาสมุทรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย IOC ได้ร่วมมือกับองค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization : WMO) ในการใช้โปรแกรมการดำเนินงานด้านระบบ เฝ้าสำรวจสมุทรศาสตร์ทั่วโลก เพื่อสร้างความเข้าใจถึงบทบาทของมหาสมุทรที่มีส่วนสัมพันธ์กับภูมิอากาศโลก อีกทั้งยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับระบบเตือนภัย การลดผลกระทบจากภัยที่เกิดจากสึนามิ และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล โดยสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกมีระบบเครือข่ายด้านการเตือนภัยที่ประสานกันเป็น หนึ่งเดียว เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนความรู้ รวมถึงการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านนโยบาย ซึ่งประเทศไทยได้มีการประสานความร่วมมือกับ Indian Ocean Tsunami Warning and Mitigation system (IOTWS) และ Pacific Tsunami Warning system (PTWS)

ในการประชุมยังมีการนำเสนอความก้าวหน้าและผลงานวิชาการด้านสมุทรศาสตร์ที่สำคัญ เพื่อใช้วางแผนการจัดการและการตัดสินใจในอนาคต รวมถึงมีการพิจารณารายงานผลการศึกษาของคณะทำงานด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับสถานะความรู้วิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปใช้ในการเผยแพร่ต่อไป

“ และในปี 2510 จะครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้ง IOC ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบให้ประเทศสมาชิกร่วมมือกันในการจัดกิจกรรม และทำของที่ระลึก เนื่องในวาระการฉลองครบปีที่ 50 ของ IOC เพื่อให้สาธารณชนได้เห็นถึงบทบาทของ IOC และความสำคัญเรื่องมหาสมุทรศาสตร์ สำหรับประเทศไทยนั้น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะจัดประชุมวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล และการสำรวจสมุทรศาสตร์ทางฝั่งทะเลอันดามัน รวมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนองแนวคิดดังกล่าวเช่นกัน” ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเล กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ

กลุ่มสื่อสารองค์กร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

120 หมู่ 3 ชั้น 5 อาคารรวมหน่วยราชการ (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550

ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210

โทรศัพท์ 0-2141-1299 โทรสาร 0-2143-9249

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version