นายศิริศักดิ์ วิทยอุดม รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ออกประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่ให้มีการติดตั้งระบบควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2552 เลื่อนกำหนดการติดตั้งระบบควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงในพื้นที่ 7 จังหวัด คือ ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา ระยอง สงขลา สมุทรสาคร สระบุรี และสุราษฎร์ธานี จากเดิมตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2552 ออกไปอีกเป็นเวลา 1 ปี เป็นวันที่ 23 พฤษภาคม 2553
จากการประกาศใช้กฎกระทรวงควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2550 โดยกำหนดให้มีการติดตั้งหน่วยควบคุมไอน้ำมัน (Vapor Recovery Unit) หรือ VRU ที่คลังน้ำมันเชื้อเพลิง สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และรถขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ในเขตกรุงเทพ และปริมณฑล และเขตพื้นที่ที่มีคลังน้ำมันอีก 7 จังหวัดนั้น พบปัญหาในช่วงระหว่างการเปลี่ยนผ่าน ที่ให้รถขนส่งน้ำมันใหม่ ต้องเป็นระบบเติมน้ำมันใต้ถัง (Bottom loading) ทั้งหมด แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดัดแปลงรถขนส่งน้ำมันที่มีอยู่เดิมให้เป็นระบบเติมน้ำมันใต้ถัง (Bottom loading) มีต้นทุนสูงขึ้น 300,000 - 500,000 บาท/คัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายย่อยในเขตพื้นที่ 7 จังหวัด มีหนังสือมาถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรมธุรกิจพลังงานเพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ยกเว้นภาษีนำเข้าอุปกรณ์ระบบควบคุมไอน้ำมัน รวมทั้งขอยกเว้นหรือขอลดเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯและขอให้จัดเงินกู้ยืมปลอดดอกเบี้ย เพื่อใช้ปรับปรุงรถขนส่งน้ำมัน หรือพิจารณาระบบควบคุมไอน้ำมันที่มีค่าปรับปรุงไม่สูงขึ้นมาก เพื่อลดภาระต้นทุนตัวผู้ประกอบการ
นายศิริศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากปัญหาเรื่องภาระต้นทุนดังกล่าว ธพ.จึงได้ศึกษาระบบการควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถขนส่งเพิ่มเติม และพบว่าระบบรับหรือจ่ายน้ำมันเหนือถังแบบดัดแปลง (Modified top loading) ที่มีใช้ในประเทศญี่ปุ่น สามารถควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงได้ดีพอสมควรโดยมีประสิทธิภาพประมาณ 85% และจากการนำรูปแบบทดลองดัดแปลงคลังน้ำมันในประเทศไทย โดยกรมควบคุมมลพิษตรวจวัดประสิทธิภาพ พบว่าระบบดังกล่าวมีค่ามลพิษที่เกิดขึ้นอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้
“ขณะนี้กรมธุรกิจพลังงานอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวงควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2550 ให้ผู้ประกอบการที่มีรถขนส่งน้ำมันก่อนกฏกระทรวงมีผลบังคับใช้สามารถเลือกใช้ระบบรับหรือจ่ายน้ำมันเหนือถังแบบดัดแปลง (modified top loading) ได้ ซึ่งระบบนี้มีต้นทุนต่ำกว่าระบบเติมน้ำมันใต้ถัง (Bottom loading) คือ ประมาณ 70,000 บาท/คัน” นายศิริศักดิ์กล่าว