“กรมส่งออก” ดันงาน “มหกรรมบันเทิงไทย52” สร้างธุรกิจ - ขยายตลาดบันเทิงไทย สู่ตลาดโลก

จันทร์ ๒๐ กรกฎาคม ๒๐๐๙ ๑๒:๒๒
“กรมส่งเสริมการส่งออก” รุกจัดงาน “มหกรรมอุตสาหกรรมบันเทิงไทย 52 หรือ Thailand Entertainment Expo 09” ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนอุตสาหกรรมบันเทิงไทย 16-20 กันยายนนี้ ณ พารากอน ฮอล์ล หวังกระตุ้นการลงทุนและสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศด้านธุรกิจบันเทิง รวมทั้งดึงต่างชาติใช้ไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำหนัง โกยเงินเข้าประเทศ ด้านสมาคมอุตสาหกรรมบันเทิงไทยและ TACGA พร้อมใจดันสยามเมืองยิ้มเป็นหนึ่งในแผนที่โลกของผู้จัดงาน มั่นใจสามารถขยายตลาดแอนิเมชั่นมูลค่า 5-6 พันล้าน เติบโตต่อเนื่อง

นายประมุข มนตริวัต ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมธุรกิจบริการการส่งออก กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการส่งออกได้จับมือกับหน่วยงานภาครัฐ และกลุ่มธุรกิจบันเทิงภาคเอกชน อาทิ สมาคมอุตสาหกรรมบันเทิงไทย ,สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย, สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งประเทศไทย, สมาคมแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟฟิคแห่งประเทศไทย (TACGA) ฯลฯ ร่วมจัดงาน “Thailand Entertainment Expo 2009” หรือ “งานมหกรรมอุตสาหกรรมบันเทิงไทย ครั้งที่ 2” ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 16-20 กันยายน 2552 ที่พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยาม พารากอน โดยวันที่ 16-17 กันยายน 2552 เป็นวัน Trade Days และในวันที่ 18-20 กันยายน 2552 จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมงาน

สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อประชาสัมพันธ์ศักยภาพของอุตสาหกรรมบันเทิงไทยในการเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมบันเทิงในเอเชีย รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริม สนับสนุนและกระตุ้นให้ผู้ซื้อ ผู้ลงทุนจากนานาชาติเกิดความสนใจในธุรกิจบันเทิงของประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้น ทั้งงาน ภาพยนตร์ โทรทัศน์ วิทยุ งานโฆษณา มัลติมีเดีย และ การ์ตูนแอนิเมชั่น พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดการซื้อขายลิขสิทธิ์ต่างๆ ขยายไปยังตลาดต่างประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นแหล่งถ่ายทำภาพยนตร์ระดับโลก

"ปีที่แล้วถือเป็นปีแรกของการจัดงานมหกรรมอุตสาหกรรมบันเทิงไทย โดยมีผู้เข้าร่วมงานจำนวน 74 บริษัท 147 คูหา และมีผู้เข้าชมงานทั้งสิ้น 16,785 คน มีเงินหมุนเวียนจากการสั่งซื้อในงานประมาณ 12 ล้านเดอลล่าสหรัฐ และมีมูลค่าการซื้อ-ขายใน 1 ปี ประมาณ 79 ล้านดอลล่าสหรัฐ ซึ่งปีนี้ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่อุตสาหกรรมบันเทิงไทยสามารถขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนได้ เป็นการแสดงศักยภาพให้ทั้งผู้ผลิตและผู้สร้างจากต่างประเทศที่เข้ามาร่วมงานได้เห็น หลังจากนั้นจะก่อให้เกิดการร่วมลงทุนและสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศทางธุรกิจบันเทิง รวมถึงความร่วมมือการพัฒนาด้านเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น”

ทั้งนี้ จากศักยภาพของธุรกิจบันเทิงไทย ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสื่อบันเทิงต่างๆ อาทิ ภาพยนตร์ ละคร หรือการให้บริการทางด้านบันเทิง เช่น บริการก่อนการผลิต (Pre-production) บริการการผลิต (Production) บริการหลังการผลิต (Post-production) ตลอดจนการให้บริการแก่กองถ่ายต่างประเทศ ที่เข้ามาใช้สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย สามารถพัฒนาให้เกิดการจ้างงานและเกิดธุริกจต่อเนื่องในอุตสาหกรรมบันเทิงได้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการนำเข้าเงินตราจากต่างประเทศ กรมส่งเสริมการส่งออกจึงให้การสนับสนุนและส่งเสริมนักธุรกิจไทย ให้มีการส่งออกผลงานไปยังต่างประเทศมากขึ้น และยังกระตุ้นให้นักธุรกิจต่างชาติสนใจผลงาน และเข้ามาใช้บริการธุรกิจบันเทิงในประเทศไทยมากขึ้นเช่นกัน

“ประเทศไทยถือเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน ด้วยผู้คนที่เปิดกว้างต่อการรับเอาสื่อบันเทิงทุกรูปแบบ พร้อมทั้งมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมความบันเทิงกันอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้ประเทศไทยและบุคลากรในอุตสาหกรรมบันเทิงของไทย สามารถพัฒนาและต่อยอดในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งตอบรับต่อความต้องการตามแนวทางธุรกิจบันเทิงในกระแสโลกได้อย่างลงตัว”

นายประมุข กล่าวอีกว่า ไทยมีจุดแข็ง คือ มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ และความคิดสร้างสรรค์ และยังมีความเป็นศิลปินอยู่ในตัว มีอุปกรณ์ เครื่องมือ ในการถ่ายทำ การตัดต่อและล้างฟิล์มที่ทันสมัย ในขณะที่ค่าบริการในการรับจ้างผลิต และค่าแรงงานของไทยถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฮ่องกง สิงค์โปร์ นอกจากนี้ ผลงานของคนไทยยังมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากอุตสาหกรรมบันเทิงไทยมีการแข่งขันสูงระหว่างผู้ประกอบการในประเทศด้วยกันเอง ส่งผลให้ผู้ประกอบการตื่นตัวและมีการพัฒนาต่อเนื่อง

ด้าน นายปราโมทย์ โชคศิริกุลชัย นายกสมาคมอุตสาหกรรมบันเทิงไทย กล่าวว่า เป้าหมายการจัดงานในปีนี้ คือ ความต้องการสร้างให้ประเทศไทย เข้าไปเป็นหนึ่งแผนที่โลกของการจัดงานอุตสาหกรรมบันเทิงให้ประสบความสำเร็จ และยังเป็นการผลักดันให้เกิดการผนึกกำลังกันระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจ บันเทิงหลากหลายสาขา ทั้งในส่วนของภาพยนตร์ เพลง แอนิเมชั่น เพื่อสร้างศักยภาพในการนำเสนอผลงานให้กับต่างชาติได้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อม และมีความสามารถในหลากหลายสาขาของอุตสาหกรรมบันเทิง

นอกจากนี้ ยังต้องการผลักดันให้เกิดความร่วมกันระหว่างประเทศเอเชีย อาทิ มาเลเซีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย เวียดนาม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงาน และเกิดอำนาจต่อรองเทียบเท่ายุโรปและอเมริกา ในรูปแบบของ "ต้มยำเอเชีย" โดยไทยเองต้องพยายามสร้างงานให้มีความแข็งแกร่ง และมีศักยภาพที่เข้มข้น ในขณะเดียวกันเมื่อประเทศพันธมิตรอื่นๆ ของเราต้องการพัฒนาศักยภาพ ไทยก็พร้อมที่จะเข้าร่วมเพื่อผลักดันให้ผลงานบันเทิงของเอเชีย เป็นที่ยอมรับของตลาดโลกได้ ไม่แพ้เกาหลีใต้และญี่ปุ่น

ขณะที่ นายลักษณ์ เตชะวันชัย นายกสมาคมแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟฟิคแห่งประเทศไทย (TACGA) กล่าวว่า จากนโยบายของภาครัฐ ที่จะพัฒนาให้ไทยเป็น Creative Economy และการเติบโตของอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นทั่วโลกที่ขยายตัวต่อเนื่อง การจัดงาน Thailand Entertainment Expo 2009 จึง ถือเป็นการจุดประกายให้เกิดการพัฒนางานในประเทศไทย และยังเป็นการเชิญชวนนักลงทุนชาวต่างชาติ ให้รู้จักประเทศไทยและได้เห็นผลงานของคนไทยมากขึ้น โดยเป้าหมายในเบื้องต้น คือ ต้องการให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในแผนที่โลก ของประเทศที่มีศักยภาพในการจัดงานด้านนี้

สำหรับ การที่จะผลักดันให้ประเทศไทย อยู่ในแผนที่โลกของการจัดงานได้ เราต้องพัฒนางานของเราให้มีความเข้มแข็ง ขณะที่รัฐเอง ต้องพยายามผลักดันให้การจัดงานครั้งนี้ เกิดผลทางด้านธุรกิจ เกิดการซื้อขาย เกิดการเจรจาการค้า ไม่ใช่เพียงแค่การโชว์ผลงานเพียงอย่างเดียว

ส่วนของสมาคม TACGA เอง จะพยายามผลักดันให้ตลาดแอนิเมชั่นไทยขยายตัวมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีมูลค่าตลาดประมาณ 5-6 พันล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 10% ขณะที่ผลงานของคนไทยได้รับการยอมรับจากต่างชาติอยู่แล้ว หากได้รับการส่งเสริมและผลักดันที่ดี จะทำให้ธุรกิจแอนิเมชั่นของไทยเติบโตต่อเนื่องได้ทุกปี

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ Cournot and Nash Co., Ltd.

ภัทรวดี ใจผ่อง (เอ)

ฐปณี จันทคัด (จุ๊)

ไอริณ ฤกษะสาร (แนน)

sroiyson T.

[email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version