“เพื่อให้โครงการสัมฤทธิ์ผล สพฐ. จึงได้เตรียมจัดอบรมครูทั่วประเทศ จำนวน 1,000 คน โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของประเทศไทย ที่จะเข้ามาให้ความรู้โดยไม่คิดมูลค่า รวมทั้งยังทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและเป็นพี่เลี้ยงแก่ครูและโรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกอย่างใกล้ชิด” นายสมเกียรติกล่าว
ด้านนายสุปรี เบ้าสิงห์สวย ผู้จัดการมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท เครือเจริญโภคภัณฑ์ และกรรมการคณะอนุกรรมการดำเนินงานกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถม เปิดเผยถึงกระบวนการคัดเลือกโรงเรียนเพื่ออบรมครูเลี้ยงไก่ไข่ ว่าจะคัดเลือกจากรูปแบบโครงการเพื่ออาหารกลางวันที่โรงเรียนกว่า 3,000 แห่งเสนอเข้ามาว่าโรงเรียนใดเสนอโครงการเลี้ยงไก่ไข่ จากนั้นทีมงาน CPF จะเข้าไปพิจารณาพื้นที่ในเชิงเทคนิค เพื่อดูความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการ ประกอบกับพิจารณาความพร้อมของผู้บริหารโรงเรียน ครูและนักเรียนที่จะรับผิดชอบโครงการด้วย
“โครงการนี้มีเงื่อนไขที่ชัดเจนคือการให้ครั้งเดียวอย่างพอเพียง โรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกและอบรมครูแล้วเสร็จ จะได้รับงบประมาณที่ครอบคลุมการสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ อุปกรณ์การเลี้ยง พันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ รุ่นแรก รวมถึง ยาและวัคซีน โดยครู นักเรียนและชุมชน ต้องร่วมกันจัดการโครงการให้สามารถดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งการเลือกที่จะให้ความรู้แก่ครูก่อนนั้น เพราะครูคือผู้นำการเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่มีส่วนสำคัญยิ่งในการถ่ายทอดความรู้สู่เด็กๆ และชุมชน” นายสุปรีกล่าว
การอบรมครูเลี้ยงไก่ไข่นี้ จะดำเนินโครงการในเดือนกรกฎาคม- สิงหาคม 2552 ในพื้นที่ 7 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ อุบลราชธานี เชียงใหม่ กาญจนบุรี อุดรธานี นครราชสีมา พิษณุโลก สุราษฎร์ธานี โดยจะอบรมครูระดับประถมในสังกัด สพฐ. โรงเรียนละ 3 คน จำนวน 255 โรงเรียน รวมถึงเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอีกเขตละ 2 คน รวมเป็นผู้ที่จะได้รับการอบรมทั้งสิ้น 1,000 คน โดยคณะอนุกรรมการฯชุดนี้คาดหวังว่าจะก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในโครงการอาหารกลางวันนักเรียนแก่ครู เป็นการให้ความรู้และทักษะด้านบริหารจัดการโครงการ และสร้างทัศนคติที่ดีต่ออาชีพเกษตร ตลอดจนเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อบูรณาการไปสู่การเรียนการสอนใน 2 เรื่องคือ หลักสูตรท้องถิ่นว่าด้วยเรื่องการจัดการอาชีพเกษตร และ ทักษะที่เกิดขึ้นกับนักเรียนและผู้ปกครองต้องสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง