แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่า บริษัทจะสามารถจ่ายชำระคืนหนี้ได้ตามข้อผูกพันและข้อกำหนดในข้อตกลงการปรับโครงสร้างหนี้และข้อกำหนดอื่นๆ ที่อาจมีขึ้นในการขอแหล่งเงินทุนใหม่ของบริษัท นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความคาดหมายที่บริษัทจะได้รับการสนับสนุนจาก ต.ล.ท. ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด โดยความสามารถในการฟื้นคืนฐานะทางการตลาดในธุรกิจสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการเข้าถึงเงินทุนจากหลายแหล่งเหมือนที่บริษัทสามารถกระทำได้ในอดีตยังเป็นสิ่งที่ต้องรอการพิสูจน์ต่อไป
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บล. เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ได้บรรลุข้อตกลงการปรับโครงสร้างหนี้ในวันที่ 20 มีนาคม 2552 และในวันที่ 22 กรกฎาคม 2552 บริษัทสามารถบรรลุข้อตกลงตามเงื่อนการปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการเพิ่มทุนอย่างน้อย 1,000 ล้านบาทจากผู้ถือหุ้นที่มีอยู่ รวมถึงจากผู้ถือหุ้นรายใหม่ และจากการแปลงหนี้เป็นทุน เงินเพิ่มทุนใหม่จำนวน 1,016.74 ล้านบาท (ราคาพาร์ 10 บาทต่อหุ้น) ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของบริษัทโดยเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 30% จากระดับ 0.92% ณ เดือนมีนาคม 2552 หลังจากการเพิ่มทุนแล้ว ต.ล.ท. ได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของบริษัท โดยถือหุ้นในสัดส่วน 24.66% ตามด้วยกระทรวงการคลัง (10.56%) ธนาคารกรุงไทย (6.02%) ธนาคารออมสิน (4.92%) ธนาคารพาณิชย์ 12 แห่ง (17.72%) บริษัทหลักทรัพย์ 34 แห่ง (16.27%) บริษัทจัดการกองทุน 14 แห่ง (15.57%) และบริษัทประกัน 9 แห่ง (4.28%)
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ภายใต้ข้อตกลงการปรับโครงสร้างหนี้ เจ้าหนี้ทุกรายได้รับสิทธิเท่าเทียมกันทั้งหมด โดยจำนวนหนี้ตามข้อผูกพันมีทั้งสิ้น 8,725 ล้านบาท ซึ่ง ณ วันที่ 20 เมษายน 2552 ประมาณ 52.03% มีการชำระคืนแก่เจ้าหนี้ไปแล้ว ส่วนที่เหลือมีกำหนดชำระคืนด้วยการแปลงหนี้เป็นทุน (3.44%) และการปลดภาระหนี้ (2.87%) ภายใต้แผนการเพิ่มทุน รวมทั้งด้วยการจ่ายชำระคืนในงวดวันที่ 21 ธันวาคม 2552 (22.92%) และงวดวันที่ 21 มิถุนายน 2553 (18.74%) บริษัทคาดว่าจะสามารถหาแหล่งเงินจำนวน 2,500 ล้านบาทจากสถาบันการเงิน 4 แห่งภายใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งจะทำให้มีเงินทุนเพียงพอในการชำระคืนหนี้ตามข้อผูกพัน อย่างไรก็ตาม บริษัทมีข้อจำกัดด้านความยืดหยุ่นทางการเงินและกระแสเงินสดซึ่งจะทำให้บริษัทมีความเสี่ยงในการหาแหล่งเงินทุนใหม่เพื่อนำมาชำระหนี้ในอนาคต
หลังจากที่บริษัทนำหุ้นเพิ่มทุนเข้าจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2552 แล้ว บริษัทก็ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ดำเนินการธุรกิจสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์อีกครั้ง โดยบริษัทประกาศจะเริ่มให้บริการได้ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 (วันนี้) ทั้งนี้ บริษัทจะเผชิญกับความท้าทายในธุรกิจหลักเนื่องจากความไม่แน่นอนของปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจและการตอบสนองจากตลาดหลังจากที่บริษัทกลับเข้าสู่ธุรกิจการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ ในอนาคตบริษัทมี
ความเป็นไปได้ที่จะได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจใหม่ได้ตามแผนซึ่งได้แก่ ธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนและธุรกรรมยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม คณะผู้บริหารยังต้องใช้เวลาในการสร้างผลงานที่เชื่อถือได้และมีส่วนแบ่งทางการตลาดในระดับหนึ่งตามที่กำหนดไว้ในแผนธุรกิจ
ณ วันที่ 24 กรกฎาคม 2552 บริษัทมีขนาดสินทรัพย์ (ยังไม่ได้ตรวจสอบและสอบทาน) จำนวน 4,840 ล้านบาท ลดลงจาก 8,705 ล้านบาท ณ ปลายปี 2551 ในปี 2551 บริษัทบันทึกผลขาดทุนจากการลงทุนในหลักทรัพย์ที่ยังไม่รับรู้เป็นรายได้จำนวน 987 ล้านบาท ซึ่งทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญเป็น 62 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2551 จาก 2,129 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2550 ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทกลับเป็นติดลบจำนวน 14 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2552 แต่หลังจากการเพิ่มทุนแล้ว ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทก็กลับมาเพิ่มขึ้นเป็น 1,122 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน บริษัทมียอดคงค้างของเงินให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์จำนวน 2,680 ล้านบาท และมีเงินลงทุนในหลักทรัพย์สุทธิซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรรัฐบาลและเงินลงทุนในตลาดเงินจำนวน 1,662 ล้านบาท
บริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด (มหาชน) (TSFC)
อันดับเครดิตองค์กร: เพิ่มเป็น BB จาก D
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)