นางจรวยพร ธรณินทร์ กรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ในฐานะโฆษก ก.พ.ค. กล่าวว่า ภายหลัง ก.พ. ได้ประกาศบัญชีจัดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และยกเลิกระบบซี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2551 ส่งผลให้เรื่องอุทธรณ์และร้องทุกข์ของข้าราชการพลเรือนอยู่ในวินิจฉัยของ ก.พ.ค. ล่าสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2552 มีผู้ยื่นเรื่องเข้ามายัง ก.พ.ค. แล้วจำนวน 206 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องอุทธรณ์ที่ ก.พ.ค. รับไว้พิจารณาจำนวน 49 เรื่อง และเรื่องร้องทุกข์ที่อยู่ในอำนาจ ก.พ.ค. จำนวน 37 เรื่อง โดยได้ออกคำวินิจฉัยไปแล้วรวม 10 เรื่อง ส่วนเรื่องอุทธรณ์และร้องทุกข์ที่ไม่อยู่ในอำนาจ ก.พ.ค. มีทั้งสิ้นจำนวน 120 เรื่อง
สำหรับการอุทธรณ์ โฆษก ก.พ.ค. กล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นความผิดวินัยร้ายแรงโทษ ไล่ออกและปลดออก ซึ่งมาจากการปลอมแปลงเอกสาร การไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ การยักยอกเงินหลวง ขณะที่การร้องทุกข์นั้น ส่วนใหญ่เกิดจากความคับข้องใจเนื่องจากการ จัดคนลงตำแหน่งในช่วงการยกเลิกระบบซี รวมทั้งการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ
ดังนั้น ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นช่วงของการแต่งตั้งโยกย้าย จึงขอให้ผู้บังคับบัญชาคำนึงถึงระบบคุณธรรมตามมาตรา 42 (3) ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่กำหนดให้การเลื่อนตำแหน่งต้องเป็นไปอย่างเป็นธรรม โดยพิจารณาจากผลงาน ศักยภาพและความประพฤติ รวมทั้งจะนำความคิดเห็นทางการเมืองหรือสังกัดพรรคการเมืองมาประกอบการพิจารณามิได้ นอกจากนี้การแต่งตั้งนั้นต้องปฏิบัติ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ. กำหนดไว้ในแต่ละตำแหน่งหรือประเภทให้ถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย
“เนื่องจากใกล้ถึงช่วงของการแต่งตั้งโยกย้าย ก.พ.ค. จึงอยากเตือนให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจ คำนึงระบบคุณธรรมในการแต่งตั้ง คือต้องยึดผลงานเป็นหลัก เพราะมิฉะนั้นผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถยื่นเรื่องร้องทุกข์มายัง ก.พ.ค. ได้ ส่วนการป้องกันมิให้เกิดความผิดทางวินัย ก็ขอให้ข้าราชการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามระราชดำริของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว คือมีความพอประมาณ มีเหตุผลและมีภูมิคุ้มกันความเสี่ยง โดยเฉพาะในช่วง ที่เศรษฐกิจกำลังตกต่ำ ข้าราชการควรรู้จักการประหยัดและอดออม” โฆษก ก.พ.ค. กล่าว
ทั้งนี้ ก.พ.ค. ยังได้จัดทำคู่มือ “ก.พ.ค. ขอตอบ” ซึ่งเป็นการรวบรวมคำถาม-คำตอบ ที่เกี่ยวข้องกับ ก.พ.ค. อาทิ กฎ ก.พ.ค.ว่าด้วยการอุทธรณ์ และกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์ รวม 33 ข้อ จำนวน 2,000 เล่ม เพื่อสร้างความเข้าใจในกระบวนการวินิจฉัยเรื่องอุทธรณ์ และร้องทุกข์ของ ก.พ.ค. ให้เป็นไปอย่างครอบคลุมและทั่วถึงมากขึ้น โดยผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับได้ที่สำนักพิทักษ์ระบบคุณธรรม สำนักงาน ก.พ. โทรศัพท์ 0 2547 1667 หรือสามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์สำนักงาน ก.พ. www.ocsc.go.th ได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2552 เป็นต้นไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1786 กลุ่มสื่อสารองค์กร สำนักงาน ก.พ.