นางสาวนันทินี มาลานนท์ ผู้จัดการศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ศูนย์อาสาสมัคร มธ. ศูนย์รังสิต ได้ก่อตั้งขึ้น และเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) การก่อตั้งศูนย์อาสาสมัครนี้ มีเป้าหมายเพื่อเปิดพื้นที่ให้นักศึกษามีโอกาสเรียนรู้ชุมชน และสังคมรอบข้าง ผ่านการทำงานจิตอาสา ตลอดจนส่งเสริมการนำ “ความรู้” ไปใช้แก้ปัญหาชุมชน และสังคมรอบข้างใกล้ๆ ตัว อันจะช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ และทำให้นักศึกษาสามารถเชื่อมโยงความรู้ในห้องเรียนกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมได้ ทั้งนี้การสนับสนุนจะมุ่งเน้นให้นักศึกษาทำกิจกรรม หรือโครงการกับชุมชนที่อยู่รอบๆ มหาวิทยาลัย ภายใต้แนวคิดที่ว่า การทำกิจกรรมอาสาสมัคร เป็นกิจกรรมที่ทำได้ง่ายๆ ทำได้ทันที และทำได้ทุกวัน
ผู้จัดการศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต่อไปว่าที่ผ่านมา ศูนย์อาสาสมัคร ได้ริเริ่มดำเนินโครงการธรรมศาสตร์อาสาเพื่อชุมชน ไปแล้ว โดยให้การสนับสนุนโครงการของนักศึกษาทั้งสิ้น 19 โครงการ สำหรับปีนี้ ศูนย์อาสาสมัคร รุกต่อยอดฐานงานจิตอาสา โดยเปิดตัวโครงการใหม่พร้อมกัน 2 โครงการ เพื่อสนับสนุนให้นักศึกษา มธ.ได้ทำงานจิตอาสาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นการระดมเยาวชนคนจิตอาสามาผนึกกำลังพัฒนาชุมชนรอบรั้วมหาวิทยาลัย โดยหวังให้เป็นการสร้างฐานเยาวชนจิตอาสาที่เข้มแข็งใน มธ. ซึ่งทั้ง 2 โครงการจะเปิดรับนักศึกษา เพื่อเริ่มดำเนินกิจกรรมในเดือนกันยายน ถึงตุลาคมปีนี้
ผู้จัดการศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงรายละเอียดของโครงการใหม่ 2 โครงการว่า “โครงการ จิ๋วแต่แจ๋ว จะเชิญชวนนักศึกษาที่มีประสบการณ์ทำกิจกรรมจิตอาสามาบ้างแล้ว ร่วมส่งโครงการจิตอาสาไอเดียเจ๋งๆ เข้ามาประกวด จุดนี้ศูนย์ฯ อยากรู้ว่านักศึกษามีไอเดียดีๆ อะไรบ้าง อาจเป็นงานที่ทำคนเดียวหรือเป็นทีมก็ได้ ขอแค่ทำสิ่งเป็นประโยชน์กับชุมชนรอบๆ มหาวิทยาลัยโดยไม่หวังผลประโยชน์เท่านั้นเอง โดยทางศูนย์ฯ จะสนับสนุนทุนทำกิจกรรมบางส่วน”
“สำหรับโครงการ “จากพี่สู่น้อง” ศูนย์จะเปิดรับนักศึกษาหน้าใหม่ที่ไม่เคยทำงานอาสาสมัครมาก่อน แล้วชวนนักศึกษาออกไปทำกิจกรรมในโรงเรียนระดับประถมศึกษา 2 โรงเรียนซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ โรงเรียนวัดบางขันธ์ และโรงเรียนคลองสอง (เสวตสมบูรณ์อุปถัมภ์) โดยให้อาสาสมัครชวนเด็กๆ ในโรงเรียนมาช่วยกันปรับสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียน ซึ่งจุดนี้อาสาสมัครต้องมาช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรเด็กๆ จะรู้จักวิธีปรับสภาพแวดล้อมโรงเรียนให้น่าอยู่แล้วลงมือทำกิจกรรมต่อไปได้ด้วยตนเอง โดยจะทำควบคู่กับกิจกรรมห้องสมุดมีชีวิต เนื่องจากศูนย์ฯ สำรวจมาแล้วพบว่าโรงเรียนส่วนใหญ่รอบๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีปัญหาเรื่องห้องสมุด คือห้องสมุดไม่น่าสนใจ ไม่มีหนังสือ เด็กๆ จึงไม่ค่อยอ่านหนังสือ อาสาสมัครก็จะเข้ามาจัดกิจกรรมในห้องสมุด เพื่อทำให้เด็กมีความคุ้นเคยกับห้องสมุดมากขึ้น และจัดหาหนังสือที่อยู่ในความสนใจของเด็กๆ มาเพิ่มเติมไว้ในห้องสมุดต่อไป”
นางสาวนันทินี ยังได้กล่าวถึงผลการดำเนินโครงการธรรมศาสตร์อาสาเพื่อชุมชนที่ผ่านมาเพิ่มเติมว่า มีโครงการจิตอาสาของนักศึกษามธ.ทั้ง 3 ศูนย์ รวม 19 โครงการ ในจำนวนนี้มีโครงการที่มีผลงานเด่นหลายโครงการ อาทิ โครงการทียูฟอร์ยู(TU To You) มธ.ท่าพระจันทร์, โครงการปลูกน้ำใจในบ้านเรา มธ.ศูนย์รังสิต, โครงการเยาวชนสืบค้นความดี มธ.ศูนย์ลำปาง เป็นต้น ซึ่งพบว่ากิจกรรมจิตอาสามีส่วนช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาและชุมชนรอบข้างได้จริง อีกทั้งยังทำให้นักศึกษารู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและสังคมมากขึ้น ซึ่งการดำเนินกิจกรรมทั้ง 2 โครงการในปีนี้ ก็เป็นผลสืบเนื่องจากโครงการธรรมศาสตร์อาสาเพื่อชุมชนในปีที่ผ่านนั่นเอง
นายอนุวัฒน์ บัวปาน หรือต้นน้ำ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง แกนนำโครงการเยาวชนสืบค้นความดี 1ใน 19 โครงการธรรมศาสตร์อาสาเพื่อชุมชน สะท้อนถึงประสบการณ์ในการลงไปทำงานกับชุมชนว่า
“กิจกรรมนี้ทำในพื้นที่ชุมชนบ้านส้มป่อย โดยอาสาสมัครจะใช้กระบวนการให้เด็กๆ ในชุมชนไปสืบค้นวิถีชีวิต วัฒนธรรม และสิ่งดีๆ ที่เป็นภูมิปัญญาของชุมชน โดยพี่อาสาสมัครมีหน้าที่แนะนำเทคนิคการสังเกตและเก็บข้อมูล จากนั้นให้น้องๆ นำข้อมูลที่ได้มาสร้างเป็นสื่อท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆ ว่าชุมชนบ้านส้มป่อยมีสิ่งดีๆ และมีคุณค่าอยู่ที่ไหน อย่างไรบ้าง โดยหลังจากทำโครงการนี้แล้วปรากฎว่าน้องๆ ในชุมชนได้ร่วมกันคิดโครงการต่อยอดที่พวกเขาอยากทำ คือ โครงการมินิมาร์ทชุมชน เพื่อนำเสนอว่าป่าชุมชนมีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของเขาอย่างไร เพราะน้องๆ ค้นพบว่าวิถีชีวิตของเขา เวลาเดินเข้าไปในป่าชุมชนตามฤดูต่างๆ เขาสามารถเก็บของป่ากลับออกมาเป็นอาหารยังชีพได้ ป่าไม้จึงมีประโยชน์และเปรียบเสมือนชีวิตของเขา ซึ่งอาสาสมัครเห็นว่าความคิดของน้องๆ เป็นโครงการต่อยอดที่ดีและควรสนับสนุนให้ดำเนินการต่อไป”
โครงการ พัฒนาขยะชุมชนท่าใหญ่พัฒนา
ผู้รับผิดชอบโครงการ กลุ่ม S.G.S คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
อาสาสมัครทำ workshop การจัดการขยะกับชาวบ้าน
แผนผังการจัดการขยะ
อาสาสมัครตั้งวงเสวนากับชาวบ้าน
พื้นที่ดำเนินโครงการ ชุมชนท่าใหญ่พัฒนา
ลักษณะกิจกรรม จัดกิจกรรมส่งเสริมให้ชุมชนจัดการขยะอย่างยั่งยืน โดยการทำประชาคมและให้ ความรู้เกี่ยวกับการกำจัดขยะ