ทีมขึ้นช่าย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) คว้าชัย การแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย 2552

ศุกร์ ๓๑ กรกฎาคม ๒๐๐๙ ๑๔:๕๑
กรุงเทพฯ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ประกาศ ให้ทีมรถอัจฉริยะไร้คนขับ ”ทีมขึ้นช่าย” จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย 2552 (Thailand Intelligent Vehicle Challenge 2009) รับรางวัลเงินสด 300,000 บาท และโล่ห์เกียรติยศ จาก ฯพณฯ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประธานในพิธี

ทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศและรางวัลอื่น ๆ มีดังต่อไปนี้

ทีมแอร์ ฟอร์ซ ทู (Air Force II) จากโรงเรียนนายเรืออากาศ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ เงินรางวัล 200,000 บาทและโล่ห์เกียรติยศ

ทีมอะไรฟว์-ทู (Arrive-II) จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้รับรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม เงินรางวัล 50,000 บาท และโล่ห์เกียรติยศ

ทีมผักชี จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ได้รับรางวัลความคิดสร้างสรรค์ เงินรางวัล 50,000 บาทและโล่ห์เกียรติยศ

ทีม ดั๊ค ไรเดอร์ส (Duck Riders) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้รับรางวัลออกแบบประหยัดพลังงานยอดเยี่ยม เงินรางวัล 50,000 บาทและโล่ห์เกียรติยศ

ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “กระทรวง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชื่นชมความพยายามของสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) และบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ในการจัดการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่สาม การแข่งขันนี้เป็นเวทีที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพทางด้านเทคโนโลยี เช่น การสร้างรถอัจฉริยะไร้คนขับของไทย นอกจากนี้ การแข่งขันยังสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการสร้างเวทีสำหรับเยาวชนไทยเพื่อการพัฒนาหุ่นยนต์ อันนำมาซึ่งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”

“การแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และความชำนาญของนิสิตนักศึกษาไทยในสาขาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและยานยนต์ การแข่งขันนี้สนับสนุน การทำกิจกรรมนอกหลักสูตรและเตรียมความพร้อมให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทยในการทำโครงการ รถอัจฉริยะ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย กล่าว “เราได้เห็นว่าเยาวชนไทยได้พัฒนาศักยภาพในการสร้างรถอัจฉริยะไร้คนขับอย่างรวดเร็ว โดยพวกเขาได้รับความรู้เกี่ยวกับหุ่นยนต์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เป็นอย่างดี ด้วยการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง โครงการนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมต่อไป”

ศาสตราจารย์ วรศักดิ์ กนกนุกูลชัย รองอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย กล่าวว่า กิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์ถือเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ เป็นกิจกรรมที่มีการปฏิบัติจริง นอกเหนือไปจากสิ่งที่จะได้จาก ตำราเรียน ผมเชื่อว่านักศึกษาที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันจะได้พัฒนาความรู้ความสามารถและเพิ่มศักยภาพ ทำให้เขาเหล่านี้เป็นกำลังที่สำคัญขององค์กร หรือหน่วยงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยตรง

สำหรับการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะนั้นเป็นการแข่งขันที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกับที่กำลังถูกค้นคว้าใช้ในห้องวิจัย ในวันนี้พวกเราในที่นี้จะมีโอกาสได้เห็นการนำเทคโนโลยีมาใช้จริง พร้อมกับความสนุกสนานของบรรยากาศการแข่งขัน

รองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ พานิชกุล ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย 2552 และ อาจารย์ประจำภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) กล่าวว่า “การคัดเลือกทีมแชมป์ประเทศไทยมีความท้าทายมากเนื่องจากเราได้เห็น แต่ละทีมได้พยายามอย่างสุดความสามารถและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นอย่างมากในการออกแบบรถอัจฉริยะไร้คนขับ”

ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ รถอัจฉริยะจำนวน 2 คัน ได้ลงแข่งขันในสนามเดียวกัน โดยจุดที่ปล่อยรถซึ่ง ห่างกัน 100 เมตร คณะกรรมการตัดสินทีมที่ชนะ โดยพิจารณาจากทีมที่วิ่งได้ระยะทางรวมไกลที่สุด ระยะทางรวมเป็นระยะทางที่รถวิ่งจริงรวมกับระยะทางโบนัสอันเนื่องมาจากการหลบหลีกสิ่งกีดขวาง คะแนนจากการแข่งขันในรอบคัดเลือกและรอบชิงชนะเลิศได้ถูกนำมาพิจารณาในการคัดเลือกทีมชนะเลิศ

“ผลงานของทีมชนะเลิศจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) มีความเยี่ยมยอดมาก สมาชิกของทีมประสบความสำเร็จ เพราะพวกเขาได้นำหลักการต่าง ๆ ที่พวกเขาได้เรียนรู้มาปรับใช้ในสิ่งประดิษฐ์ของพวกเขา นี่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นความพยายามอย่างหนักและความสำเร็จจากการร่วมมือทำงานกันเป็นทีม ซึ่งมีความสำคัญมากในชีวิตการทำงาน

คณะผู้จัดการแข่งขันและซีเกทพบว่า มาตรฐานผลงานของนิสิตนักศึกษามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทุกปี เราหวังว่าจะมีนิสิต นักศึกษาไทยจำนวนมากขึ้นที่ศึกษาต่อในด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อช่วยทำให้เราสามารถใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในการทำงานให้สะดวกรวดเร็วมากและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญการทำงานเหล่านั้นจะต้องก่อมลภาวะที่น้อยที่สุดเพื่อรักษาโลกของเราให้สะอาด และทำให้ผู้คนมีสุขภาพอนามัยดีและปลอดภัยมากขึ้น” นายเจฟฟรี่ย์ ดี ไนการ์ด รองประธานและผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว “การแข่งขันนี้ลักษณะนี้มีความสำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาเยาวชนและนิสิต นักศึกษา ที่เขาได้เรียนรู้ว่าในขณะที่พวกเขาควบคุมสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ พวกเขาสามารถก้าวไปยังการวิจัยและวันหนึ่งในอนาคต พวกเขาจะสามารถประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง”

1) บทสัมภาษณ์ทีมรถอัจฉริยะไร้คนขับ “ทีมขึ้นช่าย — สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ

รายชื่อสมาชิกในทีม

1. นายเมธี ศรีสุพรรณดิฐ ภาควิชาเมคาโทรนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี

2. นายนัศรีย์ เบนาลี ภาควิชาเมคาโทรนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี

3. นายสมพงษ์ ทานอก ภาควิชาเมคาโทรนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี

1. มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศและพัฒนาจุดเด่นของรถอย่างไรบ้าง

ทางทีมได้เขียนซอฟท์แวร์ควบคุมความเร็วของรถให้เพิ่มขึ้นจาก 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตลอดจนพัฒนาซอฟท์แวร์ควบคุมการแล่นของรถตามเส้นทางได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น การพัฒนาฮาร์ดแวร์ที่ทำเพิ่มเติมคือส่วนที่ควบคุมระบบเบรกและระบบควบคุมส่วนที่เร่งความเร็วของเครื่องยนต์ นอกจากนี้ ทางทีมยังทำวงจรไฟฟ้าขึ้นใหม่ แก้ปัญหาสัญญาณรบกวนและติดตั้งกล้องเว็บแคมเพิ่มจุดเด่นของทีมที่ให้สามารถเอาชนะคู่แข่ง คือความเร็วของรถ การเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ และการที่รถขับเคลื่อนเหมือนกับมีคนขับจริง

2. ในการเข้าร่วมการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะไร้คนขับ รอบชิงชนะเลิศ น้อง ๆ ได้มีการปรับใช้ความรู้ที่ได้เรียนมาในการพัฒนารถอย่างไรบ้าง

ทางทีมได้ปรับใช้ความรู้จากวิชาคอนโทรล เพื่อควบคุมรถ ทำให้รถอยู่ในเส้นทาง สามารถเลี้ยวและหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ นอกจากนี้ พวกเรายังปรับใช้ความรู้จากวิชาอิเล็กทรอนิกส์ ในการติดตั้งและพัฒนาอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับรถอัจฉริยะไร้คนขับ เช่น มอเตอร์ เข็มทิศ จีพีเอส เป็นต้น

3. น้อง ๆ คิดว่าการเข้าร่วมการแข่งขันฯ ในครั้งนี้ ได้ช่วยพัฒนาทักษะของน้อง ๆ ซึ่งจะมีผลต่อการศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นตลอดจนการทำงานในอนาคตในด้านใดบ้าง

หลังจากการเข้าร่วมการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะไร้คนขับ สมาชิกในทีมมีความสนใจในการศึกษาต่อด้านการพัฒนารถอัจฉริยะเพราะเราได้พบว่าการพัฒนารถอัจฉริยะไร้คนขับมีความท้าทายและสนุกสนานมาก

2) บทสัมภาษณ์ทีมรถอัจฉริยะไร้คนขับ “แอร์ ฟอร์ซ ทู — โรงเรียนนายเรืออากาศ ซึ่งได้รับรางวัล รองชนะเลิศ

รายชื่อสมาชิกในทีม

1. นักเรียนนายเรืออากาศ จักรพันธุ์ ขาวสำรวย

2. นักเรียนนายเรืออากาศ สิทธิชัย นาคประเสริฐ

3. นักเรียนนายเรืออากาศ สถาพร อยู่เย็น

1. มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศและพัฒนาจุดเด่นของรถอย่างไรบ้าง

ทีมแอร์ ฟอร์ซ ทู ได้เพิ่มความเร็วของรถ โดยทำให้รถสามารถวิ่งได้เร็ว 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในทางตรงและ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในทางโค้ง ขยายตัวรับสัญญาณจีพีเอส โดยเปลี่ยนมาใช้จีพีเอสสำหรับใช้ในเครื่องบินซึ่งมีความละเอียดสูง นอกจากนี้ เรายังเพิ่มกันชนของรถทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เนื่องจากความเร็วสูงขึ้น หากมีการชนกับสิ่งกีดขวางจะแรงขึ้นทำให้รถอาจเกิดความเสียหายได้ ดังนั้น จึงต้องมีการติดตั้งกันชนที่แข็งแรง ทนทาน เรายังปรับปรุงการหลบหลีกสิ่งกีดขวางของรถ โดยแบ่งออกเป็น 3 เลนคือ ซ้าย กลาง ขวา เพื่อให้รถสามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ถ้าสิ่งกีดขวางตั้งอยู่ตรงกลาง รถก็จะเคลื่อนไหวไปทางเลนซ้ายหรือเลนขวา เป็นต้น

2. ในการเข้าร่วมการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะไร้คนขับ รอบชิงชนะเลิศ น้อง ๆ ได้มีการปรับใช้ความรู้ที่ได้เรียนมาในการพัฒนารถอย่างไรบ้าง

ทางทีมได้นำวิชาการเขียนโปรแกรมคอนโทรลมาใช้ในการควบคุมรถ นอกจากนี้ เมื่อพบว่ารถมีปัญหาเรื่องโครงสร้าง ก็ได้ใช้วิชาเครื่องกลปรับปรุงแก้ไขได้ดียิ่งขึ้น เรายังดาวน์โหลดข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น มอเตอร์ควบคุมล้อ เบรก และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มาจากเว็บไซต์ด้วย

3. น้อง ๆ คิดว่าการเข้าร่วมการแข่งขันฯ ในครั้งนี้ ได้ช่วยพัฒนาทักษะของน้อง ๆ ซึ่งจะมีผลต่อการศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นตลอดจนการทำงานในอนาคตในด้านใดบ้าง

สมาชิกในทีมที่สนใจเรื่องโปรแกรมคอนโทรล ก็จะศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านคอนโทรล นอกจากนี้ บางคนก็สนใจที่จะทำงานเป็นนักวิจัยของกองทัพ โดยการใช้ระบบคอนโทรล เช่น การติดตั้งกล้องเข้าไปที่เครื่องเฮลิคอปเตอร์ แล้วเขียนโปรแกรมควบคุม

สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย

สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 โดยกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจและดำเนินงานเกี่ยวข้องกับ วิศวกรรมหุ่นยนต์ อันประกอบไปด้วย นักวิชาการ นักวิจัย และนักอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและ เผยแพร่ความรู้และความเข้าใจในวิทยาการด้านหุ่นยนต์ จัดกิจกรรมการปฏิบัติงานทางวิชาการ เพื่อพัฒนาความรู้ และเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ เป็นศูนย์กลางทางด้านข่าวสารในวิทยาการใหม่ ๆ ของหุ่นยนต์ ทั้งในประเทศและ ต่างประเทศและสร้างเครือข่ายนักวิจัยและวิชาการเพื่อส่งเสริมการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ในสาขาหุ่นยนต์ และวิศวกรรมอัตโนมัติ ท่านสามารถติดต่อสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยได้ที่ โทร. 0-2889-2138 ต่อ 6446 หรือเว็บไซต์ www.trs.or.th

บริษัทซีเกท

ซีเกทคือผู้นำทั่วโลกในการออกแบบ การผลิตและการตลาดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และโซลูชั่นสำหรับบันทึกข้อมูล จากการนำเสนอผลิตภัณฑ์สำหรับระบบปฏิบัติการต่าง ๆ รวมทั้งองค์กร เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เครื่องคอมพิวเตอร์มือถือ (Mobile Computing) อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า (Consumer Electronics) และโซลูชั่นที่มียี่ห้อ (Branded Solutions) รูปแบบการดำเนินธุรกิจของซีเกทช่วยเสริมสร้างความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีและการผลิตระดับโลก เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และมีคุณภาพในระดับชั้นนำของอุตสาหกรรมไปยังลูกค้าทั่วโลก ด้วยเป้าหมายในการเป็นผู้นำในการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดเป็นรายแรกในตลาดทั้งหมดที่เรามีส่วนร่วม บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัล การให้การสนับสนุนแก่ลูกค้าและมีความน่าเชื่อถือเพื่อตอบสนองความต้องการบันทึกข้อมูลที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาในโลก ท่านสามารถพบซีเกทได้ทั่วโลกและค้นหาข้อมูลซีเกทเพิ่มเติมที่ www.seagate.com

บรรยายภาพ: สมาชิกทีมขึ้นช่าย จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) โพสต์ท่าสุดเท่กับรถอัจฉริยะ ไร้คนขับของพวกเขาซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ ในการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย 2552 (Thailand Intelligent Vehicle Challenge 2009)

ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ รศ. ดร. มนูกิจ พานิชกุล โทรศัพท์ 0-2524-5229 Email: [email protected]

หรือนางสาวขวัญจิต สุดสวัสดิ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด

โทรศัพท์ 0-2715-2919 Email: [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ