มอบหมายหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้ชัดเจน ทำงานต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ
รองปลัดกทม. กล่าวยอมรับว่าปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาร่วมกันของทุกคน ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยหน่วยงานใดเพียงหน่วยงานเดียว ทุกหน่วยงานต้องบูรณาการการทำงาน ใช้ทรัพยากร กำลังคนของแต่ละหน่วยงานให้เต็มกำลังจึงจะสามารถรับมือกับขนาดของปัญหาในระดับมหานคร และสนองตอบความต้องการของประชาชนในระดับชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานในสังกัดกทม.นั้นให้ทุกสำนักและสำนักงานเขตมอบหมายผู้รับผิดชอบงานด้านยาเสพติดในระดับรองผู้อำนวยการสำนัก และผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้ชัดเจน เพื่อการทำงานที่ต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ ซึ่งต่อไปนี้การปฏิบัติจะเป็นหน้าที่ของสำนักงานเขต ดังนั้นเขตฯ จะต้องมีระบบข้อมูลยาเสพติดในแต่ละเขตแต่ละชุมชนที่ชัดเจนเพื่อให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกันนี้ขอความร่วมมือประชาชนหากพบเบาะแสยาเสพติด โปรดแจ้งโทร. 1386 เพื่อร่วมกันหยุดยั้งสถานการณ์ปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพฯ
เน้นทำงานเชิงพื้นที่ ลดจำนวนผู้ค้าและนำผู้เสพเข้ารับบำบัดโดยสมัครใจ
ทั้งนี้ กลยุทธ์ในช่วงเวลาที่เหลือของปีงบประมาณ 2552 จะมุ่งเน้นการดำเนินงานเชิงพื้นที่ โดยเน้นเป้าหมายที่กำหนดเป็นเป้าหมายแรก และให้มีการบูรณาการการปฏิบัติในพื้นที่เป้าหมายตามลำดับขอบกิจกรรม โดยมีตัวชี้วัดสำคัญ คือ การลดจำนวนผู้ค้า และการนำผู้เสพเข้าบำบัดโดยสมัครใจ โดยกระบวนการชุมชน ประชาสังคม หรือกึ่งบังคับสมัครใจ เพื่อให้เป้าหมายเฉพาะของพื้นที่กรุงเทพฯ 21,600 คนตามที่กำหนด โดยแจ้งสำนักงานเขต สำนักอนามัย กรมคุมประพฤติ สน.พื้นที่ หรือ ปปส.กทม. เพื่อนำเข้าค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งรัดลดปัจจัยลบและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาแหล่งมั่วสุขของเยาวชน เช่น สถานบันเทิง ร้านเกม อินเตอร์เน็ต และหอพัก พร้อมทั้งเสริมปัจจัยเชิงบวกด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์ให้มากขึ้น
กำหนดพื้นที่ค้นหา 3 กลุ่มเป้าหมาย ผู้เสพ ผู้ค้า และกลุ่มเสี่ยง
ด้าน นายประยงค์ ปรียาจิตติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติกรุงเทพมหานคร (ผอ.ปปส.กทม.) เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่เสี่ยงการแพร่ระบาดยาเสพติดทั้งปัญหาด้านการค้าและกลุ่มผู้เสพในระดับรุนแรง โดยมีการยกระดับจากผู้เสพสู่การเป็นผู้ค้ารายย่อยจำนวนมาก เนื่องจากการติดต่อซื้อขายทำได้ง่ายกว่าในอดีต อีกทั้งการแก้ไขปัญหาผู้กระทำผิดรายเก่ายังตกค้าง แต่รายใหม่ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกขณะ ซึ่งจะต้องดำเนินการแก้ปัญหาเชิงคุณภาพ โดยการกำหนดพื้นที่เฉพาะและนำชุมชนเป็นตัวตั้งในการค้นหากลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มไปพร้อมกัน คือ กลุ่มผู้เสพ ผู้ค้า และกลุ่มเสี่ยง โดยนำผู้เสพเข้าระบบการบำบัดรักษา การจับกุมผู้ค้า และการปรับพฤติกรรมของกลุ่มเสี่ยง เพื่อควบคุมปัญหาและสร้างระบบเฝ้าระวังในชุมชนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สำหรับชุมชนเป้าหมาย 441 ชุมชนแม้ในบางชุมชนจะปรับระดับเป็นชุมชนสีขาวแล้ว แต่จำเป็นต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องและพัฒนาให้เป็นพื้นที่เชิงบวกต่อไป
สถานพยาบาลกทม.พร้อมรองรับผู้เสพเข้าบำบัดรักษา
พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการกองป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า ด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดนั้น มีสถานพยาบาลรองรับด้านการรักษาและฟื้นฟู โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ มีศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง ซึ่งพร้อมให้คำปรึกษาปัญหายาเสพติด อีกทั้งมีคลินิกเพื่อบำบัดด้านยาเสพติดโดยเฉพาะอีก 18 แห่ง บ้านพิชิตใจ ศูนย์ซับน้ำตาวชิรพยาบาล และโรงพยาบาลตากสิน ซึ่งนับเป็นจุดแข็งของพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม แนวทางการบำบัดรักษาเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ สิ่งสำคัญคือการป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดของยาเสพติด และเกิดโรคสมองติดยาในผู้เสพซึ่งจะทำให้สูญเสียสมองส่วนความนึกคิด เหลือแต่เพียงความต้องการยาเสพติดที่มากขึ้นเท่านั้น
หลายหน่วยงานร่วมประชุมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกันบูรณาการทำงานแก้ปัญหายาเสพติด
สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหายาเสพติดพื้นที่กรุงเทพมหานครในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม กรมคุมประพฤติ และสำนักงาน ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม รวม 400 คน โดยมีการอภิปรายแนวทางการขับเคลื่อนกิจกรรมสำคัญตามยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกันในช่วงเวลาที่เหลือของปีงบประมาณ 2552 การบรรยายเกี่ยวกับระบบการรายงานผลการดำเนินงาน การบรรยายทิศทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดในปีงบประมาณ 2553 การระดมความคิดเห็นของผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการการทำงานแก้ไขปัญหายาเสพติดตามยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกัน และกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ตลอดจนจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับให้ได้ประสิทธิผลอย่างยั่งยืนในอนาคต