ซอฟต์แวร์พาร์ครุกสร้างสุดยอดคนไอที ประเดิมจับมือเอไอทีออกหลักสูตร

จันทร์ ๑๐ สิงหาคม ๒๐๐๙ ๑๗:๑๓
ซอฟต์แวร์พาร์คเซ็นเอ็มโอเอกับเอไอที ประเดิมสอนหลักสูตรสร้างมือโปรธุรกิจซอฟต์แวร์ เผยเป็นหลักสูตรระดับโลก แก้ปัญหาคนซอฟต์แวร์ไทยเข้าสู่ยุคแรงงานราคาถูก ชี้ปัญหาสร้างมือดีไม่ได้เพราะขนาดตลาดไทยเล็กเกิน เอไอทียันมาตรฐานเทียบเท่า ม. Carnegie Mellon พร้อมเปิดตั้งแต่สิงหานี้

ศาสตราจารย์ ดร. ชัชนาถ เทพธรานนท์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี เปิดเผยว่า เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือ ซอฟต์แวร์พาร์คได้ทำบันทึกข้อตกลง หรือ MOA ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือ AIT ในการสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านไอทีในระดับสูงด้วยหลักสูตรปริญญาโททางด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์สำหรับนักวิชาชีพหรือ Professional Master’s in Software Engineering (PMSE) ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทย และถือเป็นหลักสูตรใหม่ในระดับโลกอีกด้วย

ปัจจุบันมีการประเมินว่า มีบุคลากรซอฟต์แวร์ในประเทศไทยประมาณ 50,000 คน ซึ่งขณะนี้ถือว่ายังอยู่ในสภาพขาดแคลน เนื่องจากอุตสาหกรรมทางด้านไอซีทียังเติบโตต่อเนื่อง มากกว่า 10% ต่อปี แต่ปัญหาของอุตสาหกรรมไอซีทีของประเทศ กำลังวนอยู่กับปัญหาเดิมๆ ที่อุตสาหกรรมอื่นๆ ประสบมา นั่นคือการรับจ้างทำงานราคาถูก โดยเน้นแข่งขันเรื่องต้นทุนแรงงานเท่านั้น ซึ่งสุดท้ายจะต้องไปแข่งขันกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่กำลังสร้างคนไอทีใหม่ที่มีแรงงานราคาถูกเข้าสู่ตลาดจะยากขึ้นทุกที การปรับตัวรับปัญหานี้จึงต้องเร่งสร้างคนไอทีระดับบน ที่มีความเชี่ยวชาญระดับสูง เช่น Software Architecture เข้ามาสู่ตลาดในประเทศไทยมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับประเทศ

จากการคาดคะเนของซอฟต์แวร์พาร์ค คนที่ทำงานในระดับสูงของไทยปัจจุบันมีปริมาณไม่มากนัก เนื่องจากหนึ่ง ขนาดแอพพลิเคชันที่รองรับตลาดในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นโปรแกรมขนาดเล็ก ไม่ต้องการลักษณะงานที่สลับซ้อนต้องวางโครงสร้างขนาดใหญ่ ทำให้ความจำเป็นที่จะต้องมีคนระดับนี้มาวางแผนมีน้อยมาก ขณะเดียวกันคนที่มีความสามารถระดับนี้ก็จะถูกระบบปรับให้ไปรับตำแหน่งบริหาร หรือแผนกทางด้านการขายแทน อีกทั้งมีหลักสูตรเพื่อสร้างคนจากสถาบันการศึกษาในระดับนี้มีน้อยมาก

จากปัญหาการสร้างคนในกลุ่มซอฟต์แวร์ระดับบนขาดแคลน ส่งผลให้แผนการลงทุนจากต่างประเทศในด้าน ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากบริษัทต่างชาติจะพิจารณาเรื่องจำนวนคนที่อยู่ในระดับบนเป็นหลักก่อน ยิ่งปัจจุบันเทคโนโลยีใหม่ๆ เริ่มเป็นไปในลักษณะการต่อเชื่อมและต่อยอด เช่น SOA ซึ่งต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ด้านการออกแบบระบบมากขึ้น ทำให้ความรู้ความสามารถในด้าน Software Architect ยิ่งมีความจำเป็น ดังนั้นทางซอฟต์แวร์พาร์คจึงต้องการสนับสนุนและผลักดันการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ด้านนี้อย่างสูง

ที่ผ่านมาซอฟต์แวร์พาร์คได้จัดหลักสูตรเพื่อสร้างคนซอฟต์แวร์ระดับสูง แต่ก็มีความสามารถสร้างได้เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นนโยบายของซอฟต์แวร์พาร์คต่อไปคือจะเน้น การเป็นตัวเชื่อมโยง Linkage หรือเป็น Bridge เชื่อมต่อกับหน่วยงานการศึกษาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญระดับสูงให้มากขึ้น

หน้าที่หลักของซอฟต์แวร์พาร์คในการเซ็นสัญญาครั้งนี้คือ เข้ามาบริหารแผนการตลาด เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้คือผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของซอฟต์แวร์พาร์ค ไม่ว่าจะเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ สถาบันการเงิน บริษัทโทรคมนาคม องค์กรธุรกิจขนาดกลาง และ ใหญ่ต่างๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางซอฟต์แวร์พาร์คเก็บข้อมูล และสำรวจความต้องการ ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด

หลักสูตรนี้ทางซอฟต์แวร์พาร์คกับ AIT เป็นผู้ร่วมกำหนดหลักสูตรด้วยกัน พร้อมทั้งสะท้อนปัญหาและแนวทางแก้ไข เพื่อทำให้โครงการนี้เหมาะสมกับสภาพของสังคมไทยมากที่สุด แผนการสนับสนุนอื่นๆ นั้น ทางซอฟต์แวร์พาร์คพร้อมจะให้โครงการเข้ามาใช้สถานที่ และสาธารณูปโภคต่างๆ ของซอฟต์แวร์พาร์คอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอุปกรณ์หรือเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่ใช้กับการเรียนซอฟต์แวร์ระดับสูง นอกจากนั้นซอฟต์แวร์พาร์คจะช่วยด้านการติดต่อ และแนะนำผู้เชี่ยวชาญจากในวงการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยตามที่ร้องขอ

สำหรับหลักสูตรภาษาอังกฤษที่ซอฟต์แวร์พาร์คมีการอบรมอยู่ หากผู้เรียนต้องการที่จะเข้าสู่โครงการนี้ สามารถเทียบโอน และโอนย้ายหน่วยกิตเพื่อเรียนต่อยัง AIT โดยได้รับยกเว้นค่าโอน ทำให้เกิดระบบการเรียนแบบต่อเนื่อง หลักสูตรของซอฟต์แวร์พาร์คที่เน้นเฉพาะทางก็จะมีประโยชน์กับผู้อบรมมากขึ้น

จากแผนการส่งเสริมการสร้างบุคลากรซอฟต์แวร์ระดับสูงในปัจจุบัน นอกจากในส่วนของซอฟต์แวร์พาร์คเองที่มีการอบรมหลักสูตรเฉพาะทาง และการสร้างหลักสูตรกับสถาบันการศึกษาแล้ว ยังต้องเร่งสร้างความรู้จากผู้มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรม ดังนั้นทางซอฟต์แวร์พาร์คจึงได้เข้าไปร่วมบริหารชมรมสถาปนิกซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือ IASA Thailand เพื่อเร่งสร้างบุคลากรผ่านชุมชนนักพัฒนา และให้คนกลุ่มนี้สามารถเชื่อมโยงกับนักพัฒนาในระดับโลก

ศาสตราจารย์ ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย คณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เปิดเผยว่า หลักสูตรปริญญาโททางด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์สำหรับนักวิชาชีพหรือ Professional Master’s in Software Engineering (PMSE) ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทยจะเปิดสอนในเดือนสิงหาคมนี้ โดยหลักสูตรประกอบด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น Software Development Studio ซึ่งจัดทำขึ้นตามหลักสูตรมหาบัณฑิตของมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยประยุกต์ให้เหมาะกับอุตสาหกรรมไอทีของไทย กลุ่มเป้าหมายของหลักสูตรใหม่นี้คือเหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีที่มีประสบการณ์การทำงานแต่ยังขาดพื้นฐานทางด้านวิชาการที่มีแบบแผนทางวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ซึ่งกำลังมองหาการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์เพื่อเพิ่มคุณสมบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่สนใจด้านสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์และมีเป้าหมายที่จะผลักดันตัวเองขึ้นไปสู่ตำแหน่งผู้บริหาร, สถาปนิกด้านซอฟต์แวร์ หรือนักวิเคราะห์ระบบระดับบริหารในองค์กรต่างๆ ทางด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์

ความร่วมมือระยะเวลา 3 ปี ครั้งนี้มีการกำหนดลักษณะพิเศษของหลักสูตรคือ ขอบเขตต้องครอบคลุมความรู้ด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ทุกแขนง, มุ่งเน้นผู้สำเร็จหลักสูตรเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคและสถาปนิกทางซอฟต์แวร์ และให้ความสำคัญกับการพัฒนา soft skills เช่น การสื่อสาร, การทำงานเป็นหมู่คณะ และความเป็นผู้นำเป็นต้น

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลักสูตร PMSE มีเอกลักษณ์คือ เนื้อหาการเรียนการสอนทั้งหมดจะเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งสอนโดยอาจารย์จากสถาบันนานาชาติทางด้านวิศวกรรมของเอเชีย นักศึกษาจะมีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนร่วมชั้นที่เป็นนักวิชาชีพเหมือนกัน และได้เพิ่มพูนจากประสบการณ์การทำโครงการจริงๆ ภายใต้คำแนะนำจากที่ปรึกษามากประสบการณ์ที่ถูกคัดสรรมาจากอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย การเรียนการสอนในวันธรรมดาทั้งหมดจะอยู่ในช่วงเย็นในใจกลางเมือง ทำให้สะดวกต่อนักศึกษาที่ทำงานอยู่ในเขตธุรกิจกลางเมืองกรุงเทพฯ ยิ่งไปกว่านั้นนักศึกษายังสามารถสำเร็จการศึกษาได้ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี

นอกจากนั้นในความร่วมมือยังเตรียมแนวทางให้บางวิชาในหลักสูตร PMSE ที่ได้รับการคัดเลือกตามความเหมาะสม จะมีการเปิดสอนในรูปแบบคอร์สอบรมระยะสั้นระยะเวลา 2-3 วัน ที่ซอฟต์แวร์พาร์ค ซึ่งวิชาเหล่านี้จะได้รับการยอมรับจากสำนักวิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีของสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติแห่งเอเชียให้สามารถโอนถ่ายหน่วยกิตได้ โดยมีขอบเขตที่ไม่เกิน 6 หน่วยกิต หากนักศึกษาเคยลงทะเบียนเรียนวิชานั้นๆ ไว้จากเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมการโอนถ่ายหน่วยกิต

ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ในฐานะองค์กรอิสระที่ให้การศึกษานานาชาติระดับสูงด้านเทคโนโลยี จะเข้ามามีบทบาทผู้นำในการให้การศึกษาด้านเทคโนโลยีขั้นสูงแก่แรงงานทางด้านไอที เพื่อให้สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ ในขณะเดียวกัน หน่วยปฏิบัติการกึ่งภาครัฐอย่างซอฟต์แวร์พาร์คก็ทุ่มเทให้กับการยกระดับคุณภาพ, การถ่ายทอดเทคโนโลยี, การเสริมสร้างขีดความสามารถ, การเผยแพร่ความรู้ในระดับนานาชาติ และฟูมฟักนักลงทุนเพื่อประโยชน์สูงสุดต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่:

ฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการตลาด

เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย

คุณพูลสิริ จันทร์เสวี

โทร 0-2583-9992 ต่อ 1485

อีเมล์ [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ