รัฐหนุนท่านมุ้ยเดินหน้าถ่ายทำ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ภาค 3 และ 4

อังคาร ๑๑ สิงหาคม ๒๐๐๙ ๑๑:๔๑
มุ่งกระตุ้นจิตสำนึกสามัคคี รักชาติ และร่วมตอบแทนคุณแผ่นดิน สร้างประวัติศาสตร์ ในวงการภาพยนตร์เป็นแบบ “จตุรภาค” เรื่องแรก ถ่ายทำแล้วกว่า 60% เตรียมฉายปลายปีนี้

ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย/ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ร่วมกันแถลงข่าวการสร้างภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 3 และ 4 “สงครามยุทธหัตถี” ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณในการถ่ายทำ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา และสนองพระราชดำริในการปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนชาวไทยเกิดความรักชาติ สมัครสมานสามัคคี และสร้างกระแสให้คนไทยทุกคนมีความกตัญญูรู้คุณ และร่วมกันทำความดีเพื่อตอบแทนบุญคุณของแผ่นดินไทย ตลอดจนเพื่อแสดงออกถึงความเคารพเทิดทูนในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทั้งในด้านความกล้าหาญ อดทน เสียสละ กตัญญูต่อแผ่นดิน และ พระอัจฉริยภาพในยุทธศาสตร์การรบ ที่ทำให้ประเทศไทยดำรงเอกราชตราบจนทุกวันนี้

ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล — ท่านมุ้ย ผู้กำกับภาพยนตร์ ให้รายละเอียดว่า “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่จัดทำเป็นจตุรภาค เนื่องจากมีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมายในรัชสมัยของพระองค์ โดยมีศึกสงครามครั้งสำคัญอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพระองค์ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่งในการวางแผนกลยุทธ์การศึกต่างๆ ด้วยพระอัจฉริยภาพ และทรงเสียสละเสด็จออกกรำศึกด้วยพระองค์เองร่วมกับเหล่าแม่ทัพนายกองและขุนทหาร เพื่อรักษา เอกราชของอยุธยาไว้อย่างน่าประทับใจ

สำหรับฉากรบที่สำคัญในภาค 3 และ 4 ได้แก่ ยุทธนาวีกับพระยาจีนจันตุ ศึกทุ่งบางแก้ว พระแสงดาบคาบค่าย สงครามยุทธหัตถี เป็นต้น แม้ว่าภาพยนตร์จะดำเนินเรื่องผ่านวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในศึกน้อยใหญ่ แต่ฉากรบในแต่ละบทแต่ละตอนต่างแฝงลักษณะเด่นเฉพาะตัวไม่ซ้ำแบบ ไม่ว่าจะเป็นศึกปล้นค่ายชิงเมืองแบบกองโจร หรือศึกพยุหยุทธแต่งกระบวนทัพเต็มรูปแบบ

นอกจากนี้ยังได้วางเรื่องราวให้ภาค 3 และ 4 นี้เป็นมากกว่า “หนังสงครามกู้ชาติ” โดยสื่อให้เห็นว่าสิ่งที่ซ้อนอยู่ในเพลิงสงครามคือเพลิงอารมณ์ของมนุษย์ปุถุชนที่ไม่เลือกเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์หรือชั้นวรรณะ อาทิ รักในรอยแค้นของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง รักในรอยเลือดของพระมหาอุปราชา ผู้ใช้ชีวิตสังเวยรักที่ทรงมีให้พระราชบิดา หรือรักรันทดด้วยรักซ้อนซ่อนรักระหว่างแม่นางเลอขิ่นกับพระราชมนู ซึ่งเป็นคู่ชูเรื่องสืบมาจากภาคก่อน ล้วนสอดแทรกเป็นสีสันชวนติดตาม

เกี่ยวกับความคืบหน้าในการถ่ายทำนั้น “ท่านมุ้ย” ให้รายละเอียดว่า “ในภาพรวมคือทั้งภาค 3 และ 4 ได้ดำเนินการถ่ายทำไปแล้วประมาณ 60% เฉพาะสำหรับภาค 3 ถ่ายทำไป ราว 80% แล้ว คาดว่าจะนำออกฉายพร้อมกันทุกโรงทั่วประเทศในช่วงปลายปีนี้”

ภาพยนตร์เรื่อง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” เป็นภาพยนตร์ที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้แก่วงการภาพยนตร์ไทยในหลายด้าน ทั้งการนำเทคนิคพิเศษรูปแบบใหม่จากต่างประเทศมาใช้ในการก่อสร้างฉาก และจัดทำอุปกรณ์ประกอบฉาก ที่ช่วยประหยัดทั้งเวลา แรงงาน และค่าใช้จ่าย รวมถึงงานด้านแสง เสียง พร้อมการสร้างสรรค์และจัดทำ visual effects, special effects ตลอดจนการใช้ computer graphics ที่โดดเด่น นอกจากนี้ยังได้นำเข้าม้าจากต่างประเทศที่ได้รับการฝึกฝนและดูแลเป็นพิเศษเพื่อการแสดงภาพยนตร์แนว action โดยเฉพาะ โดยในภาค 1 และ 2 มีทีมผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพที่มีประสบการณ์สูงในแต่ละด้านจากหลายประเทศ มาช่วยถ่ายทอดความรู้และเทคนิคให้แก่ทีมงานคนไทยซึ่งดำเนินการต่อในภาค 3 และ 4 อันเป็นการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการสร้างภาพยนตร์ไทยให้ทัดเทียมต่างประเทศ ทั้งยังมีการคิดค้นและปรับประยุกต์เครื่องมือใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพสำหรับใช้ในการถ่ายทำ

* * * * * *

ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่อง

“ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”

ชื่อภาพยนตร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 3 และ 4 “สงครามยุทธหัตถี”

สนับสนุนโดย รัฐบาลไทย ผ่านทางกระทรวงวัฒนธรรม

กำกับการแสดง ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล

บทภาพยนตร์ ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล และ ดร. สุเนตร ชุตินทรานนท์

วัตถุประสงค์ - เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา

- เพื่อกระตุ้นความรู้สึกเคารพเทิดทูนในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทั้งด้านความกล้าหาญ ความอดทน ความเสียสละ ความกตัญญูต่อแผ่นดิน และพระอัจฉริยภาพในยุทธศาสตร์การรบที่ทำให้ประเทศไทยดำรงเอกราชตราบจนทุกวันนี้

- เพื่อปลุกจิตสำนึกให้เกิดความรักชาติ และสร้างกระแสให้คนไทย ทุกคนมีความกตัญญูรู้คุณและตอบแทนคุณของแผ่นดินไทย

- เพื่อให้เป็น “ภาพยนตร์ของชาติ” ที่มุ่งสื่อสารแสดงประวัติศาสตร์และขนบธรรมเนียม ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของชาติไทย ให้ประจักษ์ต่อสายตาชาวไทยและชาวโลก ตลอดจนสามารถใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เป็นแหล่งข้อมูล ในการศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมในสาขาต่างๆ อาทิ การแต่งกาย ประเพณี ข้าวของเครื่องใช้ เป็นต้น

จุดเด่นภาค 3 และ 4 (“สงครามยุทธหัตถี” )

- มุ่งเน้นการนำเสนอประวัติศาสตร์ในศึกสงครามที่สำคัญ อาทิ ยุทธนาวี กับพระยาจีนจันตุ ศึกยุทธหัตถี ศึกพระยาละแวก เป็นต้น อันเป็นฉากรบที่ยิ่งใหญ่ตระการตา แตกต่างจากภาค 1 และ 2 พร้อมทั้งฉากกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่อลังการ

- เฉพาะฉากการเคลื่อนทัพของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงจากกรุง หงสาวดีสู่กรุงศรีอยุธยาก็ตระการตาเกินบรรยาย ทิ้งท้ายให้ผู้ชมต้องตามไขปริศนาว่าสมเด็จพระนเรศจะสู้ศึกนันทบุเรงและนำพากรุงศรีอยุธยาให้รอดจากภัยสงคราม กู้บ้านเมืองมิให้ต้องตกเป็นประเทศราชหงสาซ้ำสองได้ด้วยกุศโลบายศึกใด

- ถึงแม้ภาพยนตร์จะดำเนินเรื่องผ่านวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศ ในศึกน้อยใหญ่ แต่ฉากรบของเรื่องแต่ละบทแต่ละตอนต่างแฝงลักษณะเด่นเฉพาะตัวไม่ซ้ำแบบ ไม่ว่าจะเป็นศึกปล้นค่ายชิงเมืองหรือศึกพยุหยุทธ ทั้งหมดยังถูกนำเสนอให้กลืนกลายไปกับฉากที่แทรกอรรถรสบันเทิงเชิงอื่นอีกหลากหลาย ซึ่งเรียกได้ทั้งเสียงหัวเราะและคราบน้ำตา และนำพาให้ผู้ชมตั้งตาตามไปจนถึงตอนสำคัญของเรื่องอันเป็นนาทีแห่งการรอคอย......สงครามยุทธหัตถี

- ภาพยนตร์ภาคอวสานนี้ เป็นมากกว่า “หนังสงครามกู้ชาติ” ซ้อนอยู่ในเพลิงสงครามคือเพลิงอารมณ์ของมนุษย์ปุถุชนที่ไม่เลือกเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์และชั้นวรรณะ ตีแผ่วิบากกรรมของตัวละครผ่านความขัดแย้งแรงกระพือในรักหลากรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรักในรอยแค้นของนันทบุเรง หรือรักในรอยเลือดของพระมหาอุปราชา ผู้ใช้ชีวิตสังเวยรักที่ทรงมีให้พระราชบิดา หรือรักรันทดด้วยรักซ้อนรักระหว่างแม่นางเลอขิ่นกับพระราชมนู ซึ่งเป็นคู่ชูเรื่องสืบมาจากภาคก่อน

- อีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจ คือการ “ฟื้นอดีต” ทุกบททุกตอนตามตำนานที่ถูกเล่าขานผ่านหน้าประวัติศาสตร์ให้ปรากฏเป็นภาพของเลือดเนื้อและวิญญาณที่โลดแล่นได้บนแผ่นฟิล์ม ไม่ว่าจะเป็นฉากที่ สมเด็จพระนเรศทรงสุบินว่าได้ฝ่าสายธารไปสังหารพญากุมภีล์ หรือฉากพระคชาธารตกมันแล่นฝ่าทัพพม่า ไปถึงหน้าช้างพระมหาอุปราชา และฉากยุทธหัตถีที่น่าตื่นตาตื่นใจ เมื่อสมเด็จพระนเรศทรงไสเจ้าพระยาไชยานุภาพเข้าต่อรบด้วยพลายพัทธกอของยุพราชพม่าที่มีขนาดและพละกำลังเขื่องกว่า

นักแสดงนำ

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พ.ต. วันชนะ สวัสดี

สมเด็จพระเอกาทศรถ พ.ท. วินธัย สุวารี

ออกพระราชมนู นพชัย ชัยนาม

ออกพระชัยบุรี ปราบต์ปฎล สุวรรณบาง

ออกพระศรีถมอรัตน์ พ.ต. คมกฤช อินทรสุวรรณ

พระมหาเถรคันฉ่อง สรพงษ์ ชาตรี

สมเด็จพระมหาธรรมราชา ฉัตรชัย เปล่งพานิช

พระเจ้านันทบุเรง จักรกฤษณ์ อำมรัตน์

พระมหาอุปราชา นภัสกร มิตรเอม

มังจาปะโร ชลัฏ ณ สงขลา

ลักไวทำมู สมชาติ ประชาไทย

เลอขิ่น อินทิรา เจริญปุระ

มณีจันทร์ ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ

พระสุพรรณกัลยา เกรซ มหาดำรงค์กุล

นักแสดงกลุ่มใหม่ในภาค 3 และ 4

รัตนาวดี อคัมย์สิริ สุวรรณศุข

อังกาบ ศิรพันธ์ วัฒนจินดา

เจ้าจอมเป๋อ วิชุดา มงคลเขตต์

มูเตอ เกศริน เอกธวัชกุล

ท้าวโสภา พิมพรรณ ชลายนคุปต์

เสือหาญฟ้า ดอม เหตระกูล

เสือหยก พันธกฤต เทียมเศวต

นันทจอถิง ม.ล. รังษิธร ภาณุพันธ์

ศิริชัยจอถิง พ.ต.ต. จตุรวิทย์ คชน่วม

พระศรีสุพรรณราชาธิราช ดิลก ทองวัฒนา

พระยาพะเยา เฉลิมชัย มหากิจศิริ

พระยาพะสิม ครรชิต ขวัญประชา

นรธาเมงสอ (พระเจ้าเชียงใหม่) ชลิต เฟื่องอารมย์

พญาละแวก เศรษฐา ศิระฉายา

พระยาจีนจันตุ ชูชาติ ทรัพย์สุทธิพร

สีหตู วรุฒ วรธรรม

เมงเก็งสอ มยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ