พญ.มนทิรา ทองสาริ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย เปิดเผยว่า จากการสำรวจข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยสารเคมี โดยกองสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย ประจำปี 2550 พบว่า โรงงานในเขตกรุงเทพมหานครที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยสาร-เคมี มีจำนวน 4,750 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตชุมชนที่มีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น หากไม่มีการป้องกันที่ดีแล้วอาจเกิดอุบัติภัยจากสารเคมีที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสุขภาพชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัญหาอุปสรรคที่สำคัญ คือ สถานประกอบการส่วนใหญ่ขาดระบบฐานข้อมูลการบริหารและจัดการสารเคมีที่ถูกต้อง
สำนักอนามัย โดยกองสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมจึงได้ดำเนินโครงการสำรวจและจัดทำระบบฐานข้อมูลการบริหารและจัดการสารเคมีอันตรายในสถานประกอบการขึ้น เพื่อใช้ในการวางแผนและดำเนินงานอุบัติภัยจากสารเคมีของกรุงเทพมหานครให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ พร้อมจัดอบรมให้เจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครมีทักษะในการใช้ระบบฐานข้อมูลสารเคมี ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจในการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย โดยได้จัดอบรม 2 หลักสูตร ประกอบด้วย หลักสูตรการพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ด้านสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อบริหารจัดการสารเคมีในกรุงเทพมหานคร การพัฒนาโปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อสืบค้นข้อมูลสารเคมีตามแบบ สอ.1 และการจัดทำโปรแกรมประยุกต์สำหรับประเมินการก่ออันตรายสารเคมีที่มีผลกระทบต่อประชาชน ในกรณีที่เกิดการรั่วไหลหรือมีอุบัติภัยสารเคมีเกิดขึ้นให้แก่เจ้าหน้าที่ สำนักอนามัย สำนักงานเขต สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการแพทย์ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองสารสนเทศภูมิศาสตร์ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล จำนวน 100 คน แบ่งการอบรมเป็น2 รุ่นๆ ละ 50 คน ในวันที่ 10-11 ส.ค. 52, 13-14 ส.ค. 52 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล และหลักสูตร ความปลอดภัยการใช้งานสารเคมี การทำงานสารเคมี การทำงานกับสารเคมีให้มีความปลอดภัย การปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินสารเคมีแก่ผู้ประกอบการที่มีการสะสมสารเคมีในกรุงเทพมหานคร และอาสาสมัครป้องกันภัยพลเรือน จำนวน 1,500 คน แบ่งเป็นการอบรม 4 รุ่นๆ ละ 375 คน รุ่นที่ 1 และ รุ่นที่ 2 วันที่ 17-18 ส.ค. 52 ตามลำดับ ณ Hall 1 ชั้น2 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษามหาวชิราลงกรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต รุ่นที่ 3 วันที่ 19 ส.ค. 52 ณ โรงแรมชาลีน่า รุ่นที่ 4 วันที่ 20 ส.ค. 52 ณ โรงแรมที เค พาเลส ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการดำเนินการป้องกันอันตรายจากสารเคมีต่อไป