นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีที่นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี กรรมการผู้จัดการบริษัท เอกรัฐพัฒนา จำกัด และนายกสามาคมการค้าและผู้ผลิตเอทานอลไทย ให้สัมภาษณ์ว่าเอทานอลมีแนวโน้มขาดตลาด เพราะขาดแคลนวัตถุดิบและไม่มีความแน่นอนในนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทน โดยเฉพาะการที่กระทรวงพลังงานหันกลับมาส่งเสริมการจำหน่ายเบนซิน 95 นั้น ปลัดกระทรวงพลังงานได้ยืนยันว่า กระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์อย่างชัดเจนมาตั้งแต่ปี 2547 และไม่มีนโยบายให้มีการจำหน่ายเบนซิน 95 แต่เป็นเรื่องของการตัดสินใจทางการตลาดของผู้ค้าน้ำมันเอง และขณะนี้ก็มีการจำหน่ายเพียงวันละ 5 แสนลิตรเท่านั้น ส่วนเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบนั้นเป็นเรื่องปกติของทุกปีที่กากน้ำตาล(โมลาส)มีน้อยในช่วงนี้ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้พยายามแก้ไขปัญหา โดยประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องทันที เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยมีนายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ซึ่งเร่งรัดให้มีการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังให้มากขึ้นมารองรับในช่วงที่โมลาสขาดแคลนหรือมีราคาสูง โดยขอซื้อแป้งมันในสต็อก 280,000 ตันจากกระทรวงพาณิชย์ และขณะนี้กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างประกาศเชิญผู้สนใจยื่นเรื่องขอซื้อแป้งมันสำปะหลังเพื่อนำมาผลิตเอทานอลในวันที่ 24 ส.ค.นี้
สำหรับโรงงานผลิตเอทานอลจากแป้งมันสำปะหลังที่เสนอขอใช้แป้งมันฯดังกล่าว 3 โรงงาน จะมีกำลังการผลิตรวม 550,000 ลิตรต่อวัน ทั้งนี้ คาดว่าหากผลิตได้เต็มกำลังเมื่อรวมกับกำลังผลิตในปัจจุบันที่มีประมาณ 13 โรงก็จะเพียงพอต่อความต้องการใช้เอทานอลที่ใช้อยู่ประมาณ 1.2 ล้านลิตรต่อวัน อีกทั้ง กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการศึกษาให้มีการสร้างสต๊อกวัตถุดิบเอทานอลเพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ในระยะยาว
ส่วนกรณีที่นายสิริวุทธิ์ กล่าวว่า จากนโยบายที่ไม่ชัดเจนของกระทรวงพลังงานทำให้โรงงานเอทานอลส่วนใหญ่ชะลอโครงการออกไปอย่างไม่มีกำหนดนั้น ปลัดกระทรวงพลังงาน ชี้แจงว่า ปัจจุบันโรงงานเอทานอลหลายรายไม่ได้สังกัดกับสมาคมเอทานอล เช่น โรงงานบริษัทเพโทรกรีนที่มีกำลังการผลิตรวม 4 โรง 600,000ลิตร/วัน และที่กำลังก่อสร้างอีก 1 โรง 200,000 ลิตร/วัน รวม 800,000 ลิตร/วัน โรงงานขอนแก่นแอลกอฮอล์อีก 1 โรง กำลังผลิต 150,000 ลิตร/วัน ข่าวที่ออกมาจากผู้ผลิตรายดังกล่าวจึงไม่ใช่ความเห็นของผู้ประกอบส่วนใหญ่ โดยผู้ผลิตเอทานอลส่วนใหญ่เข้าใจและให้ความร่วมมือกระทรวงพลังงานเป็นอย่างดี ในขณะที่มีบริษัทผู้ผลิตเอทานอลเพียงบางรายที่ฉวยโอกาสเก็งกำไรราคาขายเอทานอลในประเทศ โดยเป็นผู้ส่งออกเอทานอลไปต่างประเทศเป็นจำนวนหลายหมื่นตัน ซึ่งเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ทำให้ปริมาณเอทานอลในประเทศยิ่งขาดแคลนมาก
“ปริมาณการใช้เอทานอลปัจจุบันมีการเติบโตก้าวหน้าจาก 0.8 ล้านลิตร/วันในปี 51 เป็น 1.2 ล้านลิตร/วันในปี 52 หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วกว่า 50% ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริม โดยเฉพาะการขายแก๊สโซฮอล์ เช่น แก๊สโซฮอล์ E10 ราคาถูกกว่าเบนซิน 95 ถึง 9.20 บาทต่อลิตร และได้มีการปรับแก้สูตรราคาเอทานอลจากเดิมที่อ้างอิงราคาตลาดโลก เป็นสูตรราคาแบบ Cost Plus โดยอิงราคาวัตถุดิบในประเทศ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ผลิตเอทานอล เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยน เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และจากการประชุมเมื่อวันที่ 4 ส.ค.ในครั้งนั้น ทุกฝ่ายต่างได้ทราบแนวทางการส่งเสริม การแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆที่ชัดเจนแล้ว การออกมาให้ข่าวของนายสิริวุทธิ์ กลับทำให้เกิดความสับสนและไม่ก่อประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น” นายพรชัยกล่าว