สำหรับประเทศไทยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) มีแนวโน้มดีขึ้นตามสัญญาณการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเชื่อว่าจีดีพี ในไตรมาสที่ 4 จะเป็นบวกได้เล็กน้อย เนื่องจากฐานตัวเลขการส่งออกในไตรมาสที่ 4 ของปีผ่านมาต่ำ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ในขณะที่แนวโน้มของการจัดเก็บภาษีที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา เช่น ภาษี มูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า อากรขาเข้า และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ที่เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว จึงมีโอกาสที่จีดีพีจะกลับไปเป็นบวกได้ และต้องยอมรับว่าประเทศของเราต้องพึ่งพาการส่งออกกว่า 70 % ของจีดีพี ดังนั้น หากเศรษฐกิจของโลกฟื้นตัวได้เร็วเท่าไร เศรษฐกิจของเราก็จะมีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วมากเท่านั้น ซึ่งหากเป็นไปตามที่คาดหมาย เชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2553 ก็คงจะดีขึ้นเช่นกัน แต่จะดีมากน้อยเพียงใดก็คงจะต้องดูปัจจัยภายในประเทศของเราด้วยว่า จะช่วยเสริมหรือบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด
ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเป็นระยะ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจของเราทรุดลงไปมาก การทำงานของรัฐบาลในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา โดยภาพรวมถือว่าดี นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเป็นแนวทางที่หลายประเทศทั่วโลกก็นำดำเนินการ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการว่างงานที่หลายฝ่ายคาดว่าจะมีคนตกงานถึง 1.2 ล้านคน อาจลดลงไม่ถึง 1 ล้านคน รวมทั้ง การออกแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ดังนั้น ในช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการต้องเข้าใจว่าจะต้องปรับตัว และรอเวลาให้การกระตุ้นเศรษฐกิจมีผลเต็มที่ ธุรกิจจึงจะเข้าไปสู่ที่เดิม ประเด็นในเรื่องการดำเนินธุรกิจ เพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในโอกาสต่อไปจึงมี 2 ประเด็นหลัก คือ
1) การประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด เช่น เรื่อง การตัดลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นออก การปรับปรุงเครื่องจักรเก่า และการประยุกต์ใช้พลังงานทางเลือกใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น
2) การค้าขายให้อยู่รอด ด้วยการยึดตลาดเดิมและหาตลาดใหม่ โดยการใช้เครื่องมือทางการตลาดที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเห็นว่า ยังมีปัจจัยลบที่ยังกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ คือ
1. สถานการณ์ทางการเมือง ที่ยังไม่มีความชัดเจน ทั้งการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อlสีต่าง ๆ และความมั่นคงในเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งเราต้องยอมรับว่านักลงทุนต่างชาติยังมีความเป็นห่วงและมองเป็นจุดอ่อนของเราหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ที่ไม่มีปัญหาการเมือง
2. ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าจะมีความผันผวนอยู่บ้าง และเชื่อว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกมีโอกาสสูงขึ้นอีกต่อไป เพราะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัว ทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันสูงขึ้น และราคาน้ำมันก็จะปรับขึ้นตาม ดังนั้น ผู้ประกอบการของเราควรเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการบริหารจัดการด้านพลังงาน อย่างน้อยต้องมีการเตรียมตัวว่า หากในไตรมาสที่ 4 ของปี 52 หรือไตรมาสที่ 1 ของปี 53 ราคาน้ำมันวิ่งขึ้นไปเกิน 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลจะต้องทำอย่างไร และหากเลวร้าย ราคาน้ำมันวิ่งขึ้นไปเกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเหมือนปีที่ผ่านมาจะต้องทำอย่างไร
สำหรับความคิดเห็นต่อการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 41 นั้น ภาคเอกชน อยากเห็นการประชุมกรอบอาเซียนครั้งนี้มีการเน้นความร่วมมือกรอบอาเซียน อาเซียน+3 และอาเซียน+6 โดยเฉพาะในกรอบอาเซียนที่จะมีการพิจารณาเรื่อง ASEAN Trade in Goods Agreement ให้เร่งทำ Single Window ส่วนในกรอบอาเซียน+3 อยากที่จะเห็นว่ารัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนดึงเงินกองทุนอาเซียน+3 ที่มีอยู่ 1 แสน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ มาช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ส่วนอาเซียน+6 จะก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านการขยายตลาดและการค้าการลงทุน