อันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของบริษัทไทยพาณิชย์ลีสซิ่งอยู่บนพื้นฐานของการได้รับการสนับสนุนทางธุรกิจและการเงินอย่างต่อเนื่องจากธนาคารไทยพาณิชย์ อีกทั้งยังได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากสถานะอันดับเครดิตของบริษัทซึ่งมีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ต่อธนาคารไทยพาณิชย์ในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางธุรกิจของบริษัทในช่วงต้นปี 2551 แต่อันดับเครดิตดังกล่าวยังคงได้รับแรงหนุนจากกระแสเงินสดที่เพียงพอจากค่างวดสินเชื่อรายเดือนที่ยังคงไว้ที่บริษัทเพื่อใช้ชำระหนี้ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังอยู่บนสมมติฐานที่จะไม่มีการลดทุนหรือจ่ายเงินปันผลที่ผิดไปจากปกติซึ่งอาจมีผลบั่นทอนฐานทุนที่แข็งแกร่งของบริษัทในช่วงที่สินเชื่อทยอยลดลง อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยซึ่งอาจกระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์และขาดทุนจากการขายรถยึดของบริษัท ส่วนอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันของบริษัทสะท้อนคุณภาพเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 99.12% และเป็นผู้ค้ำประกันหุ้นกู้ สถานะเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์มาจากสถานะทางการตลาดที่เข้มแข็งในฐานะธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อันดับ 3 ของไทยที่มีเครือข่ายสาขาที่แข็งแกร่งทั่วประเทศ ตลอดจนฐานะทางการเงินและธุรกิจที่ดีขึ้น คณะผู้บริหารที่มากประสบการณ์ และเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในระดับสูง อย่างไรก็ตาม สถานะเครดิตของธนาคารก็มีข้อจำกัดบางส่วนจากภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยน้อยลง ตลอดจนความไม่แน่นอนของธุรกิจหลักทรัพย์ และการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสินเชื่อรายย่อยซึ่งอาจจำกัดโอกาสในการเติบโตและความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สำหรับอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันสะท้อนถึงสถานะของบริษัทไทยพาณิชย์ลีสซิ่งที่เป็นหน่วยงานเชิงกลยุทธ์สำคัญพร้อมทั้งการได้รับการสนับสนุนทางธุรกิจและการเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ แนวโน้มอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการดำรงฐานทุนที่แข็งแกร่งของบริษัทในช่วงที่สินเชื่อทยอยลดขนาดลง นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงใดๆ ของความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและธนาคารซึ่งรวมถึงการถือหุ้นและการสนับสนุนล้วนมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัท ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สำหรับอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันสะท้อนความเป็นไปได้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์จะมีผลประกอบการในระยะปานกลางตามที่คาดไว้ และจะสามารถดำรงสถานะผู้นำในธุรกิจหลักของธนาคาร รวมถึงจะสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามแผนการที่วางไว้ ทั้งนี้ ระบบการจัดการความเสี่ยงที่ดีของธนาคาร ผลงานที่ได้รับการยอมรับ และฐานทุนที่แข็งแกร่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่เอื้ออำนวยน้อยลงให้แก่ธนาคารได้ในอนาคต
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 3 ในบรรดาธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบของไทยทั้ง 12 แห่งด้วยมูลค่าทางธุรกิจ (Franchise Value) ที่แข็งแกร่ง จากประสบการณ์กว่า 1 ศตวรรษทำให้ธนาคารพัฒนาคณะผู้บริหารและรูปแบบการดำเนินธุรกิจธนาคารซึ่งช่วยให้สามารถดำรงอยู่ได้ในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง การสร้างระบบการจัดการและควบคุมแบบรวมศูนย์ทำให้ธนาคารสามารถควบคุมและบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพในขณะที่การกระจายอำนาจของหน่วยธุรกิจไปสู่สาขาและบริษัทในเครือได้ช่วยยกระดับความแข็งแกร่งทางการตลาดในธุรกิจหลักของธนาคาร ระบบการจัดการความเสี่ยงที่ดี ตลอดจนคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ และเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่แข็งแกร่งสำหรับรองรับหนี้สูญจะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตให้แก่ธนาคาร
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางธุรกิจของบริษัทไทยพาณิชย์ลีสซิ่ง สินเชื่อรถยนต์ใหม่ได้ถูกบันทึกไว้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 โดยบริษัททำหน้าที่เรียกรับชำระหนี้สำหรับสินเชื่อรถยนต์ที่ค้างชำระมากกว่า 60 วันให้แก่สินเชื่อใหม่ของธนาคารไทยพาณิชย์และสินเชื่อที่ยังคงอยู่ที่บริษัท ส่งผลให้สินเชื่อคงค้างของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่องจากระดับสูงสุดที่ 81,298 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2551 มาอยู่ที่ 60,439 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2551 และ 53,355 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 บริษัทได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการสนับสนุนด้านการเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์เพื่อจัดการภาระหนี้ให้สอดคล้องกับอายุของสินเชื่อคงค้าง จากจำนวนเงินกู้ยืมทั้งสิ้น 43,639 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 เป็นเงินกู้จากธนาคารไทยพาณิชย์ 82.6% ส่วนที่เหลืออีก 9.6% และ 7.8% เป็นเงินกู้จากการออกหุ้นกู้และเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินอื่น การหดตัวของสินเชื่อได้สร้างความแข็งแกร่งให้แก่ฐานทุนของบริษัท โดยอัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นจาก 12.1% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2551 เป็น 18.8% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552
สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทไทยพาณิชย์ลีสซิ่งเพิ่มขึ้นถึงระดับ 5.9% ของจำนวนสินเชื่อรวมถัวเฉลี่ย ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 จาก 2.5% ณ สิ้นปี 2550 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจของบริษัท ณ เวลานั้น แม้ว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะลดลงมาที่ 4.2% ณ สิ้นปี 2551 แต่ทริสเรทติ้งยังคงกังวลว่าภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวยืดเยื้ออาจกดดันความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจากการที่คุณภาพสินทรัพย์เสื่อมถอยลง โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 4.9% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากขนาดสินเชื่อที่หดตัวลง อย่างไรก็ตาม ระบบการจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพของผู้ถือหุ้นใหญ่คือธนาคารไทยพาณิชย์คาดว่าจะช่วยลดทอนความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจในอนาคตและสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทให้สร้างกระแสเงินสดที่เพียงพอต่อการชำระหนี้ที่เหลืออยู่ของบริษัท นอกจากนี้ การดำรงฐานทุนที่แข็งแกร่งในช่วงที่สินเชื่อทยอยลดลงยังช่วยรองรับปัญหาที่อาจเกิดจากคุณภาพสินทรัพย์ที่เสื่อมถอยลงในกรณีที่ไม่มีการลดทุนและ/หรือมีการจ่ายเงินปันผลที่ผิดไปจากปกติ ทริสเรทติ้งกล่าว
บริษัท ไทยพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (SCBL)
อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
SPL102A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 900 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2553 คงเดิมที่ AA
SPL109A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2553 คงเดิมที่ AA
SPL106A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2553 คงเดิมที่ A+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)