นายไกรจักร แก้วนิล รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ เรื่อง “การฉีดวัคซีน IPD ในเด็กกลุ่มเสี่ยง” แก่แพทย์และผู้เกี่ยวข้องสังกัดสำนักอนามัย และสำนักการแพทย์ รวม 130 คน ณ ห้องบอลรูม โรงแรมนารายณ์ เขตบางรัก
กรุงเทพมหานครจัดการประชุมวิชาการ เรื่อง “การฉีดวัคซีน IPD ในเด็กกลุ่มเสี่ยง” เพื่อให้แพทย์ และผู้เกี่ยวข้องสังกัดสำนักอนามัย และสำนักการแพทย์ มีความรู้เกี่ยวกับระบาดวิทยาของโรค การป้องกันโรคโดยการใช้วัคซีน IPD เป็นอย่างดี สามารถนำความรู้และเทคนิคการฉีดวัคซีนไปใช้กับเด็กกลุ่มเสี่ยงเพื่อลดอัตราการเป็นโรค IPD โดยเฉพาะโรคปอดบวม (ปอดอักเสบ) ซึ่งกำหนดฉีดวัคซีน IPD ฟรี แก่เด็กกลุ่มเสี่ยงในกรุงเทพมหานครที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี จำนวน 2,000 คน ประกอบด้วย เด็กที่เกิดจากมารดาติดเชื้อ HIV เด็กคลอดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 1,500 กรัม เด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการมาแต่กำเนิด และเด็กที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย
โรค IPD หรือ Invasive Pneumococcus Disease เป็นโรคติดเชื้อชนิดรุนแรงที่เยื่อหุ้มสมองและกระแสเลือด สาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย นิวโมคอคคัส (Pneumococcus) ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น ไซนัส ปอดบวม (ปอดอักเสบ) หูชั้นกลางอักเสบ อาจทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี จากการประเมินขององค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟ พบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตด้วยโรคปอดบวมสูงถึง 2 ล้านคนต่อปี มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก สำหรับการฉีดวัคซีน IPD ควรฉีดในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี ทั้งหมด 4 เข็ม เริ่มฉีดครั้งแรกเมื่ออายุ 2 เดือนขึ้นไป เข็มต่อไปอายุ 4 เดือน อายุ 6 เดือน และอายุ 12 — 15 เดือน นอกจากนี้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังหรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่องเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัสเช่นกัน แต่การฉีดวัคซีน IPD ขึ้นอยู่กับผู้ปกครองเนื่องจากวัคซีนมีราคาสูงและควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจฉีด