วว. จับมือประเทศญี่ปุ่น วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีแก็สซิฟิเคชัน ผลิตก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์ค่าความร้อนสูงทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล

จันทร์ ๑๗ สิงหาคม ๒๐๐๙ ๑๕:๓๐
วันนี้ (17 ส.ค. 2552) ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมเป็นเกียรติ ในพิธีลงนามความร่วมมือ “โครงการการพัฒนาเทคโนโลยีแก็สซิฟิเคชัน/ไพโรไลซีส สำหรับผลิตก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่มีค่าความร้อนสูงทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล” ระหว่าง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และ บริษัท Kansai Corporation ประเทศญี่ปุ่น ณ ห้องประชุม สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า

ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวชี้แจงว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นภาวะก๊าซเรือนกระจกหรือภาวะภูมิอากาศโลกแปรปรวน ล้วนมีสาเหตุหลักจากการใช้พลังงาน และส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรในทุกส่วนของโลก ดังนั้นการจัดสรรทรัพยากรต่างๆอย่างยั่งยืน ตลอดจนการพัฒนาและเลือกใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะด้านพลังงานที่เหมาะสม จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อปัญหาต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

“..ความร่วมมือของ วว. และบริษัท Kansai Corporation ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงาน NEDO ของญี่ปุ่น โดยมีเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์สิง่แวดล้อมและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการผลิตและใช้ประโยชน์ก๊าซเชื้อสังเคราะห์ ที่ผลิตจากชีวมวลโดยเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชัน/ไพโรไลซีสเพื่อเป็นเชื้อเพลิงทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นที่ทราบกันในปัจจุบันว่าเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดภาวะก๊าซเรือนกระจกและภาวะภูมิอากาศแปรปรวน โครงการความร่วมมือนี้ย่อมเป็นผลดีต่อการอนุรักษำพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป” ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว

นายสุรพล วัฒนวงศ์ รองผู้ว่าการกลุ่มบริการอุตสาหกรรม รักษาการในตำแน่งผู้ว่าการ วว. กล่าวชี้แจงว่า ความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีแก็สซิฟิเคชัน/ไพโรไลซีส สำหรับผลิตก๊าซ เชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่มีค่าความร้อนสูงเพื่อทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ระหว่าง วว. กับบริษัท Kansai Corporstion ประเทศญี่ปุ่นนั้น เป็นการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือว่าด้วยความช่วยเหลือด้านการพัฒนาการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม (Green Partnership Plan : GPP) ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่น โดยอาศัยประสบการณ์และศักยภาพการพัฒนาด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นเป็นต้นแบบ

“การลงนามในข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการวิจัยและพัฒนาระหว่าง วว. และ Kansai Corporation ภายใต้กรอบความร่วมมือ GPP เป็นความร่วมมือที่มีติดต่อกันเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับการถ่ายทอดทำให้นักวิจัย วว. สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพของปฏิกรณ์แก็สซิฟิเคชันซึ่งออกแบบและสร้างโดย วว. มีประสิทธิภาพเพิ่มจาก 45% เป็น 65% สามารถผลิตก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์จากชีวมวล ที่มีคุณภาพทัดเทียมกับก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีแก็สซิฟิเคชันที่นำเข้าจากต่างประเทศ” นายสุรพล วัฒนวงศ์ กล่าว

การดำเนินงานของ GPP จะยึดแนวทางการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยจะมุ่งเน้น การพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร ความร่วมมือเพื่อการวิจัยและสำรวจ การสอบทาน และ ถ่ายทอดเทคโนโลยี GPP จะให้การสนับสนุนเฉพาะเรื่องและ/หรือ โครงการที่เป็นความต้องการ ของหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น โดยหน่วยงานที่ต้องการรับการสนับสนุนจะต้องจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสรรหาโครงการ ซึ่งประกอบด้วย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และ ผู้แทนจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้แทนจากการนิคม อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนจากกรมควบคุมมลพิษ ผู้แทนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน ผู้แทนจาก วว. ผู้แทนจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ผู้แทนจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ผู้แทนจากศูนย์อนุรักษ์พลังงานแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรม

ข้อเสนอโครงการที่ผ่านการคัดสรร จะนำเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนด้านงบประมาณ และ/หรือ การสนับสนุนด้านอื่นๆ จากหน่วยงานของญี่ปุ่นซึ่งประกอบด้วย Japan External Trade Organization (JETRO) The Association for Overseas Technical Scholarship (AOTS) Japan Overseas Development Corporation (JODC) และ New Energy and Industrial Technology Development Organization (NEDO)

นอกเหนือจากการสนับสนุนด้านงบประมาณแล้ว ยังมีการสนับสนุนในรูปแบบอื่นๆ เช่น การสนับสนุนด้านเครื่องมือ และ/หรืออุปกรณ์ การส่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาช่วยแก้ปัญหา และ/หรือเพิ่มขีดความสามารถ การจัดหลักสูตรอบรมวิชาการเฉพาะด้านให้แก่บุคลากร เป็นต้น

อนึ่ง แก็สซิฟิเคชัน คือ กระบวนการแปรรูปชีวมวล (หรือวัสดุเชื้อเพลิงอื่นๆ เช่น ถ่านหิน) เป็นก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์ ในปฏิกรณ์ที่มีอุณหภูมิระหว่าง 600—1,200 องศาเซลเซียส โดยจำกัดปริมาณออกซิเจนให้เหลือเพียง 1 ใน 3 ของปริมาณออกซิเจนที่ใช้ในการเผาไหม้ปกติ

ไพโรไลซีส คือ กระบวนการแปรรูปชีวมวล (หรือวัสดุเชื้อเพลิงอื่นๆ เช่น พลาสติก) เป็นถ่าน และ/หรือ Bio-oil และ ก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์ (ปริมาณน้อย) ในปฏิกรณ์ที่มีอุณหภูมิระหว่าง 300 — 500 องศาเซลเซียส โดยไม่มีออกซิเจน (ในทางปฏิบัติมีออกซิเจนในปริมาณน้อย)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ