มสช. จัดเวทีนโยบายสาธารณะ หวังปฎิรูประบบเกษตรกรรมและพัฒนาสิทธิเกษตรกร

อังคาร ๑๘ สิงหาคม ๒๐๐๙ ๑๔:๔๑
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) โดยชุดโครงการพัฒนาการมีส่วนรวมในการกำหนดนโยบายสาธารณะด้านสิทธิที่เชื่อมโยงกับสุขภาวะ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กำหนดจัดเวทีนโยบายสาธารณะเพื่อสร้างอารยะประชาธิปไตย เรื่อง “การปฏิรูประบบเกษตรกรรมและพัฒนาสิทธิเกษตรกร” ขึ้นในวันที่ 20 สิงหาคม 2552 ที่โรงแรมหลุยส์ แทรเวิร์น กรุงเทพฯ โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนกว่า 100 คน ร่วมอภิปรายและแสดงความคิดเห็น เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะถึงสิทธิเกษตรกรตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯ 2550 และผลักดันประเด็นสำคัญของสิทธิเกษตรกรและกระบวนเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเชื่อมร้อยเครือข่ายความร่วมมือในการจัดทำกระบวนการมีส่วนร่วมโดยตรงของภาคประชาชนในการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีในประเด็นของสิทธิเกษตรกร

ทั้งนี้สืบเนื่องจาก ไม่ว่าโลกและสังคมไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร เกษตรกรไทยก็ยังคงไม่พ้นวังวนของวงจรอุบาทว์เกาะเกาะกินชีวิตไม่ให้ก้าวพ้นคำว่า “โง่ จน เจ็บ” ซึ่งดูได้จากข้อมูลที่เปิดเผยมาจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร2550 และสำนักงานสถิติแห่งชาติ 2552 พบว่า สถานภาพของเกษตรไทยอยู่น่าภาวะที่น่าเป็นห่วง กล่าวคือ ปัจจุบันจำนวนเกษตรกรไทยลดลงอย่างรวดเร็ว จาก 67% เมื่อปี 2532 ลดเหลือเพียง 40% ในปี 2552 โดย 80 % ของเกษตรกรไทยประสบปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว ไร้ที่ดินทำกิน ราคาผลผลิตตกต่ำ สุขภาวะเสื่อมโทรมจากสารเคมีตกค้าง และได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า แต่ปัญหาหนักเหล่านั้นก็ยังไม่คลี่คลาย แม้จะมีคำถามเรื่องการแก้ไขต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่องก็ตาม

คณะทำงานติดตามการคุ้มครองสิทธิของเกษตรกรตามรัฐธรรมนูญ ภายใต้ชุดโครงการพัฒนาการมีส่วนรวมในการกำหนดนโยบายสาธารณะด้านสิทธิที่เชื่อมโยงกับสุขภาวะ ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการ ได้แก่ อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเครือข่ายเกษตรกร ได้ทำการศึกษาร่าง พ.ร.บ.สภาเกษตรแห่งชาติหลายฉบับ ซึ่งโดยชูประเด็นการรวมกลุ่มของเกษตรกรในรูปของสภาเกษตรกรและการมีสมัชชาเกษตรกรพบว่ายังมีหลายประการที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 84 (8) เช่น แนวทางในการคัดเลือก สรรหาสมาชิกสภาเกษตรกรที่กำหนดไว้ในกฎหมายดังกล่าว มีแนวโน้มที่จะเอื้อประโยชน์กับตัวแทนจากกลุ่มธุรกิจการเกษตรรายใหญ่มากกว่าตัวแทนของเกษตรกรรายย่อย โครงสร้างการบริหารสภาเกษตรกรที่กำหนดไว้ยังมีลักษณะที่ไม่เป็นอิสระจากระบบราชการ บทบาทหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายยังไม่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งของขบวนการ

คณะทำงานติดตามการคุ้มครองสิทธิของเกษตรกรตามรัฐธรรมนูญจึงได้ร่วมกันจัดทำร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติฉบับประชาชนขึ้น โดยนำแนวคิดว่าด้วย “สิทธิเกษตรกร” (Farmer’s Right) ซึ่งประกอบด้วยหลักสำคัญ 4 ประการ คือ 1) การถือครองปัจจัยการผลิตอย่างมั่นคง 2) การเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะอย่างเพียงพอ 3) การประกันความมั่นคงในผลตอบแทนที่ควรได้รับ และ 4) การรักษาวิถีการผลิตที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของตน หลักการนี้ยังสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเน้นหลักการดำรงชีวิตโดยพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน มีระบบการผลิตที่มีเหตุผล สอดคล้องกับฐานทรัพยากรของตน และรักษาวัฒนธรรมอันดีงามของชุมชนและสังคมไว้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาชีวิตและสังคมอย่างยั่งยืน “สิทธิเกษตรกร” จึงเป็นแนวทางเพื่อป้องกันและลดผลกระทบของเกษตรกร พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงเป็นร่างกฎหมายเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิเกษตรกร ซึ่งจัดทำขึ้นบนฐานความรู้ที่ได้มีการศึกษาของภาคส่วนต่าง ๆ พร้อมกันนี้ได้จัดทำข้อเสนอต่อสาธารณะถึงสิทธิต่างๆ ของเกษตรกร ที่ควรต้องมีเพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ