ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกัน “บ. น้ำตาลขอนแก่น” ที่ “A-/Stable”

พุธ ๑๙ สิงหาคม ๒๐๐๙ ๐๖:๐๐
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานของบริษัทในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทย ตลอดจนการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาล และสถานะทางการเงินที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม การให้อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงแผนการขยายงานของบริษัท ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจอ้อยและน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชา รวมทั้งความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อยและราคาน้ำตาลในตลาดโลก

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มน้ำตาลขอนแก่นจะยังคงดำรงสถานะการเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยเอาไว้ได้ ผลผลิตน้ำตาลทรายของบริษัทในช่วงปี 2552-2553 ที่ลดลงจากผลของการย้ายโรงงานคาดว่าจะได้รับการชดเชยจากราคาน้ำตาลที่อยู่ในระดับสูง โครงการปลูกอ้อยและโรงงานน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชาคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงปลายปี 2552 ตามแผน ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาความเข้มแข็งของฐานะทางการเงินเอาไว้ได้เพื่อรองรับความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนในต่างประเทศ

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทน้ำตาลขอนแก่นเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2488 โดยตระกูลชินธรรมมิตร์และคณะ ปัจจุบันตระกูลชินธรรมมิตร์ถือหุ้นในบริษัทรวม 68.3% ของหุ้นทั้งหมด บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 4 แห่งในจังหวัดขอนแก่น กาญจนบุรี และชลบุรี โดยมีกำลังการหีบอ้อยรวม 66,000 ตันอ้อยต่อวัน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นสามารถจัดหาอ้อยได้ปีละประมาณ 4-5 ล้านตันอ้อย และมีผลผลิตน้ำตาลทรายเฉลี่ย 500,000 ตันต่อปี ในปีการผลิต 2551/2552 กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นสามารถจัดหาอ้อยคิดเป็นสัดส่วน 6.74% ของปริมาณอ้อยทั้งประเทศ ถือเป็นอันดับ 4 รองจากกลุ่มมิตรผลซึ่งมีสัดส่วน 17.95% กลุ่มไทยรุ่งเรือง 17.65% และกลุ่มไทยเอกลักษณ์ 14.45%

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2549 บริษัทน้ำตาลขอนแก่นยังได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยอันประกอบด้วยธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าและธุรกิจผลิตเอทานอล โดยในปี 2551 รายได้จากเอทานอลคิดเป็นสัดส่วน 8% ของยอดขายรวมของบริษัท เพิ่มขึ้นจาก 4% ในปี 2550 จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นของน้ำมันแก๊สโซฮอลเนื่องจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายค่อนข้างคงที่ที่ระดับ 13%-17% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระบบแบ่งปันผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย

โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ของกลุ่มน้ำตาลขอนแก่นที่ประเทศลาวและกัมพูชาได้ผ่านการทดสอบเครื่องจักรเรียบร้อยแล้วเมื่อต้นปี 2552 และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปีการผลิต 2552/2553 โดยทั้ง 2 โครงการมีเงินลงทุนรวม 4,700 ล้านบาท ทั้งนี้ เครื่องจักรบางส่วนที่ใช้ในโรงงานทั้ง 2 แห่งย้ายมาจากโรงงานของบริษัทที่ชลบุรี จึงส่งผลให้กำลังการหีบอ้อยรวมภายในประเทศของกลุ่มในปีการผลิต 2551/2552 ลดต่ำลง โดยปริมาณน้ำตาลทรายที่บริษัทผลิตได้ในปีการผลิต 2551/2552 มีจำนวน 495,603 ตัน ลดลง 18% จากปีที่ผ่านมา ในขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายของทั้งประเทศลดลงเพียง 8% บริษัทคาดว่าจะสามารถส่งออกน้ำตาลทรายดิบที่ผลิตจากโรงงานในลาวและกัมพูชาไปยังกลุ่มประเทศยุโรปในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดโลกภายใต้โครงการการให้สิทธิปลอดภาษีและโควต้าแก่สินค้านำเข้าทุกชนิดยกเว้นอาวุธแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Everything But Arms -- EBA) อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงทางด้านการเมือง กฎระเบียบ และการดำเนินงานโรงงานน้ำตาลในประเทศทั้งสองดังกล่าวยังเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง นอกจากการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศแล้ว บริษัทยังวางแผนจะขยายธุรกิจน้ำตาลในจังหวัดกาญจนบุรีด้วยโดยใช้งบลงทุน 7,250 ล้านบาทในการย้ายโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิมไปยังที่ตั้งแห่งใหม่ในอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี รวมทั้งขยายกำลังการหีบอ้อยเพิ่ม และสร้างโรงงานผลิตเอทานอลและโรงไฟฟ้าขนาด 90 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ คาดว่าโครงการส่วนแรกจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2553 และส่วนที่ 2 จะเสร็จภายในปี 2554

บริษัทน้ำตาลขอนแก่นมีฐานะทางการเงินที่ดีมาโดยตลอด โดย ณ เดือนเมษายน 2552 บริษัทมียอดเงินกู้รวม 7,966 ล้านบาท และมีส่วนของทุน 10,880 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นจาก 32.85% ในปี 2551 เป็น 42.27% ณ เดือนเมษายน 2552 จากผลของการใช้เงินลงทุนในประเทศลาวและกัมพูชา รวมถึงการมีหนี้เงินกู้ระยะสั้นที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูการผลิต ทั้งนี้ คาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยระหว่างปี 2553-2554 ในช่วงที่มีการพัฒนาโครงการน้ำตาลแห่งใหม่ในจังหวัดกาญจนบุรี

ทริสเรทติ้งกล่าวถึงปริมาณผลผลิตอ้อยในประเทศว่าค่อนข้างผันผวนเป็นอย่างมากมาโดยตลอดซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน พื้นที่เพาะปลูก และราคาอ้อยเมื่อเทียบกับพืชผลทางการเกษตรประเภทอื่นๆ ผลผลิตอ้อยในปีการผลิต 2551/2552 อยู่ในระดับ 66.5 ล้านตัน ลดลง 9.3% จากปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ คาดว่าผลผลิตอ้อยในปีการผลิต 2552/2553 จะมีปริมาณอย่างต่ำไม่น้อยกว่าในปีก่อน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 13 เซนต์/ปอนด์ในช่วงปลายปี 2551 เป็นประมาณ 17 เซนต์/ปอนด์ในเดือนมิถุนายน 2552 จากผลของการขาดแคลนผลผลิตน้ำตาลในประเทศอินเดียและประเทศอื่นๆ เป็นสำคัญ ทั้งนี้ คาดว่าราคาน้ำตาลจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงเช่นนี้ต่อไปในปีการผลิตหน้า

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO