นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการ รักษาการแทนผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยในการร่วมเป็นวิทยากรหัวข้อเรื่อง “ทิศทางการค้าและการพัฒนาด้านอาหารปลอดภัย และพลังงานชีวภาพตลอดจนห่วงโซ่อุปทาน” ในการประชุมระดับชาติ เรื่อง “การค้าและการพัฒนาอาหาร พลังงาน และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง ธ.ก.ส. โรงพยาบาลรามาธิบดี และราชบัณฑิตยสถานแห่งประเทศไทย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในระหว่างวันที่ 21-22 สิงหาคม 2552 ว่า ในปี 2552 ธ.ก.ส. ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อพืชพลังงานทดแทน 30,000 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2552 ปล่อยสินเชื่อให้แก่เกษตรกรลูกค้าไปแล้ว 8,616 ล้านบาท จากปีก่อนที่ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ 27,000 ล้านบาท แต่ปล่อยสินเชื่อทั้งสิ้น 34,562 ล้านบาท ซึ่งพืชที่สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกได้แก่ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และอ้อย
ส่วนโครงการส่งเสริมการผลิตอาหารปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ 13,000 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 31 กรกฎาคม สนับสนุนสินเชื่อไปแล้ว 4,245 ล้านบาท ทั้งนี้
ในปีที่ผ่านมาตั้งเป้าสนับสนุนสินเชื่อในโครงการดังกล่าวไว้ 6,000 ล้านบาท แต่มีเกษตรกรลูกค้าใช้บริการสินเชื่อทั้งสิ้น 15,972 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่ตั้งเป้าไว้กว่าเท่าตัว ในปีนี้จึงได้ขยายวงเงินช่วยเหลือเพื่อให้ครอบคลุมความต้องการของเกษตรกรลูกค้าทั่วประเทศ
“นโยบายสำคัญของ ธ.ก.ส. ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการค้าและการพัฒนาด้านอาหารปลอดภัย และพลังงานชีวภาพตลอดจนห่วงโซ่อุปทาน ประกอบด้วย การส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อรวมกันซื้อปัจจัยการผลิตและรวบรวมผลผลิต การเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดผ่านขบวนการสถาบันเกษตรกร การสนับสนุนสินเชื่ออาหารปลอดภัยและพืชพลังงานทดแทน สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการผลิตและการตลาด
เพื่อยกระดับมาตรฐานผลผลิตสู่สากล และวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจหลักและสร้างโอกาสทางธุรกิจที่เหมาะสม เป็นต้น” นายเอ็นนูกล่าว
นายเอ็นนูกล่าวเพิ่มเติมว่า ธ.ก.ส.ได้มีการดำเนินงานด้านอาหารปลอดภัยและพลังงานชีวภาพไปแล้วหลายโครงการ เช่น โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ โครงการธนาคารต้นไม้ โครงการโรงเรียนเกษตรอินทรีย์ และโครงการชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง โดยแต่ละโครงการมีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและชุมชนได้เป็นอย่างดี