นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ยกร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....เพื่อกำหนดให้ลูกจ้างประจำมีสิทธิได้รับบำเหน็จรายเดือน (บำนาญปกติที่ลูกจ้างประจำได้รับเป็นรายเดือน) และบำเหน็จพิเศษรายเดือน (บำนาญพิเศษสำหรับลูกจ้างประจำที่ได้รับอันตรายเจ็บป่วย หรือถูกประทุษร้ายจากการปฏิบัติงาน) โดยเป็นสิทธิเฉพาะตัวของลูกจ้างไม่รวมถึงบุคคลในครอบครัว เนื่องจากเห็นว่าลูกจ้างประจำมีกำหนดเวลาการปฏิบัติงานเช่นเดียวกับข้าราชการคือเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปี ปฏิบัติงานอยู่ในระบบราชการและทำคุณประโยชน์ให้กับทางราชการคล้ายคลึงกับข้าราชการมาเป็นเวลานาน รัฐบาลจึงควรดูแลโดยให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามสมควร จึงได้พิจารณาถึงสวัสดิการต่าง ๆ ที่ได้รับ และควรปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้เพิ่มมากขึ้นเมื่อลูกจ้างประจำออกจากราชการ ซึ่งปัจจุบันเมื่อออกจากราชการจะได้รับเงินบำเหน็จในคราวเดียว ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากไม่มีรายได้เป็นรายเดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเรื่องค่าครองชีพ จึงได้แก้ไขระเบียบดังกล่าว โดยหลักการของระเบียบ คือ ลูกจ้างประจำซึ่งมีเวลาทำงานตั้งแต่ 25 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป หรือมีสิทธิได้รับบำเหน็จพิเศษ สามารถขอรับเป็นบำเหน็จรายเดือน หรือบำเหน็จพิเศษรายเดือนแทนก็ได้ โดยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเมื่อเลือกขอรับอย่างใดอย่างหนึ่งไปแล้ว จะได้รับตั้งแต่ออกจากงานจนกระทั่งผู้นั้นถึงแก่ความตาย และยังกำหนดสิทธิการได้รับบำเหน็จพิเศษรายเดือนในกรณีที่ได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วยเพราะเหตุปฏิบัติงานในหน้าที่ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอีกด้วย
นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันลูกจ้างประจำของทางราชการ มีจำนวน 205,478 คน จะออกจากราชการเมื่ออายุ 60 ปี ประมาณปีละ 8,660 คน โดยมีสิทธิได้รับบำเหน็จรายเดือนปีละ 6,260 คน เฉลี่ยเงินบำเหน็จรายเดือนคนละ 9,800 บาทต่อเดือน จะใช้เงินงบประมาณปีละ 6,001 ล้านบาท สำหรับภาระการคลังในระยะยาว ซึ่งประเมินจากลูกจ้างประจำกลุ่มสุดท้ายที่จะออกจากราชการในปี พ.ศ. 2576 และใช้อายุเฉลี่ยของประชากรไทยที่อายุ
80 ปีแล้ว ภาระงบประมาณรายเดือนต้องจ่ายสำหรับกลุ่มสุดท้ายจะสิ้นสุดประมาณในปี พ.ศ. 2595 รวมระยะเวลา 43 ปี ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินงบประมาณสำหรับ 43ปี รวมทั้งสิ้น 275,846 ล้านบาท
“ในส่วนของเงินงบประมาณที่เพิ่มขึ้นนั้น ได้มีการหารือในประเด็นภาระการคลังแล้ว เป็นการผูกพันงบประมาณในระยะยาว เมื่อพิจารณาถึงภาระทางการคลังที่จะเพิ่มขึ้นปีละ 6 พันล้านบาท ถือว่าเป็นภาระที่พอรับได้ ถือว่ามีความจำเป็นเมื่อเทียบกับประโยชน์ของกลุ่มคนที่ได้รับราชการมาถึง 25 ปี ให้ความเป็นอยู่มีรายได้พอต่อการดำรงชีพภายหลังออกจากราชการ” นายพฤฒิชัย กล่าว
สำนักกฎหมาย กรมบัญชีกลาง
โทร.02-273-9607