“ขยะนี้มีค่า”ที่ ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม

จันทร์ ๒๔ สิงหาคม ๒๐๐๙ ๑๕:๐๐
การจัดการกับ “ขยะ” อย่างไม่ถูกต้องได้ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค เกิดน้ำเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของสมาชิกในชุมชน

หอพักนักศึกษา “ทะเลแก้วนิเวศ” มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จ.พิษณุโลก เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่มีปัญหาจากการจัดการกับ “ขยะ” เนื่องจากมีเยาวชนจากหลากหลายพื้นที่มาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกว่า 2 พันชีวิต อีกทั้งนักศึกษาเองก็ยังมีพฤติกรรมและนิสัยในการทิ้งขยะไม่เป็นที่ กิจกรรม “ขยะนี้มีค่า” จึงเกิดขึ้นมาเพื่อปลูกจิตสำนึกให้นักศึกษาตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหา รวมไปถึงคุณค่าของสิ่งที่ทิ้งลงถังที่มีมากกว่าคำว่า “ขยะ”

โดยกิจกรรม “ขยะนี้มีค่า” เป็นหนึ่งในกิจกรรมของโครงการ “หอพักสีขาว” ซึ่งดำเนินงานภายใต้ “โครงการการสร้างเสริมสุขภาวะในมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูสงคราม” ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีเป้าหมายในการที่จะสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นกับบุคลากร เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาของมหาวิทยาลัย รวมไปถึงการทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏมีบทบาทในการขับเคลื่อนองค์ความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาวะและขยายผลออกไปสู่สังคม

ผศ.ศิริพร ไชยเมือง รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา และผู้ประสานงานโครงการสร้างเสริมสุขภาวะในมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามระบุว่า กิจกรรมนี้เป็นหนึ่งในโครงการการสร้างเสริมสุขภาวะในมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งจะเข้าไปช่วยจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดการขยะ ซึ่งถ้ามีการจัดการอย่างเป็นระบบ ถูกต้อง และครบวงจร จะทำให้สภาพแวดล้อมของหอพักดีขึ้น ส่งผลดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของนักศึกษาที่พักอาศัย

“สิ่งที่สำคัญที่ก็คือ นักศึกษาจะได้มีวินัยที่ยั่งยืน เพราะเมื่อเขามีวินัยในการทิ้งขยะ และสามารถคัดแยกขยะนำไปสร้างรายได้ ต่อไปก็อาจจะพัฒนาขึ้นเป็นอาชีพเสริมของเขาก็ได้ในอนาคต และทางมหาวิทยาลัยก็คาดหวังว่าเขาจะนำสิ่งเหล่านี้กลับออกไปสู่ครอบครัว ชุมชน และสังคมในอนาคตต่อไป ซึ่งถ้าเราทำองค์กรย่อยในระดับหอพักของเราให้ประสบความสำเร็จได้ เราก็จะขยายผลออกไปสู่องค์กรอื่นภายในมหาวิทยาลัย และขยายผลของโครงการนี้ออกไปถึงชุมชนภายนอกมหาวิทยาลัยด้วย” อ.ศิริพรกล่าว

นาวสาวพนาวัน เปรมศรี ผู้จัดการหอพักทะเลแก้วนิเวศ กล่าวถึงการดำเนินงานของกิจกรรม “ขยะนี้มีค่า” ว่าเป็นหนึ่งในโครงการหอพักสีขาว ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ของมหาวิทยาลัย ที่มาตอบโจทย์ในด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย เพราะในอดีตจะแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มจำนวนของ “ถังขยะ” ต่อมาจึงพบว่าปัญหาสำคัญอยู่ที่พฤติกรรมของนักศึกษา จึงมีความคิดว่าทำอย่างไรจึงจะปลูกจิตสำนึกให้เด็กทิ้งขยะอย่างถูกวิธี เห็นมูลค่า และเห็นความสำคัญของขยะด้วยการดึงเขาเข้ามามีส่วนร่วม โดยนำตัวแทนนักศึกษา และเจ้าหน้าที่ของหอพัก ไปฝึกอบรมกับ “ดร.สมไทย วงเจริญ” ที่ “โรงงานวงษ์พาณิช” และทางหอพักก็จัดกิจกรรมสอดแทรกสาระความบันเทิงด้วยการประกวด “มิสรีไซเคิล” เพื่อให้ความรู้เกี่ยวและประโยชน์ของขยะ ไปพร้อมกับการคัดแยกขยะจริงๆ

“ตอนนี้เด็กๆ เริ่มเข้าใจและสามารถคัดแยกขยะได้ โดยรายได้ทั้งหมดจากการขายขยะจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกให้กับนักศึกษาที่เป็นตัวแทนในการคัดแยกขยะ ส่วนที่ 2 ให้กับแม่บ้านที่มาช่วยดูแล และส่วนที่ 3 จะนำไปจัดตั้งกองทุนที่มีตัวแทนนักศึกษามาช่วยกันบริหารงาน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ให้กับสมาชิกในหอพัก เช่นการจัดกิจกรรมต่างๆ ภายในหอพัก เด็กๆ ก็จะภูมิใจว่ากิจกรรมนั้นเกิดขึ้นมาจากกองทุนและความร่วมมือของเขา และคืนกลับไปให้ตัวเขาหรือคนที่ทิ้งขยะด้วย” ผู้จัดการหอพักทะเลแก้วนิเวศระบุ

ด้าน นาวสาวศิวรัตน์ ทับแปลง หรือ “น้องไตเติ้ล” นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ แกนนำนักศึกษาที่ทำหน้าที่คัดแยกขยะ จากหอพักที่ 3 กล่าวว่า หลังจากไปอบรมกับทางวงษ์พาณิชแล้วก็เห็นขยะเป็นเงิน เห็นขยะทุกชนิดมีค่า โดยจะทำการคัดแยกขยะไว้เป็น 4 ประเภท เพื่อจำหน่ายให้กับทางโรงงานวงษ์พาณิชย์คือ 1)ขยะรีไซเคิล เช่น กระดาษ, พลาสติก, โลหะ, แก้วฯลฯ ซึ่งเป็นขยะที่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ 2)ขยะแห้ง เช่นเศษผ้า, เศษไม้, กล่องโฟม, ถุงพลาสติกฯลฯ ซึ่งจะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนได้ 3)ขยะเปียก เช่นเศษอาหาร สามารถนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ หรือหมักทำเป็นปุ๋ยได้ 4)ขยะอันตราย เช่น แบตเตอรี่, ขยะอิเล็กทรอนิกส์, ยางรถยนต์ กระป๋องยาฆ่าแมลงฯลฯ

“สมัยก่อนจะทิ้งขยะรวมเป็นถุงเดียวลงถังทำให้เน่าและมีกลิ่นเหม็นไปทั่ว ตอนนี้ก็ชวนเพื่อนๆ มาช่วยกันเก็บแยกขยะ และบอกให้เห็นถึงประโยชน์และผลดีที่จะได้ ซึ่งโครงการนี้นอกจากจะส่งผลดีกับทุกคนที่อยู่ที่หอพัก ตัวเราเองถ้าทำทุกวันก็จะได้นิสัยในการปรับเปลี่ยนการทิ้งขยะ ซึ่งก็ตั้งใจว่าจะทำให้หอพักของของมหาวิทยาลัยเราเป็นต้นแบบในด้านการจัดการกับปัญหาขยะให้กับคนอื่นๆ ได้มาศึกษาดูงาน” น้องไตเติ้ลกล่าวอย่างภาคภูมิใจ

ศ.เกียรติคุณแพทย์หญิง ชนิกา ตู้จินดา คณะกรรมการ สสส. กล่าวถึงโครงการสร้างเสริมสุขภาวะในมหาวิทยาลัยราชภัฏว่า นอกจากจะเป็นการส่งเสริมสุขภาพและสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยแล้ว ตัวนักศึกษาเองยังจะต้องมีความรู้ และสามารถเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องทางด้านสุขภาวะอนามัยแก่ประชาชนทั่วไปได้ด้วย

“เพราะนักศึกษาคือต้นกล้า เราจึงต้องปลูกต้นกล้าให้เจริญเติบโต โดยเฉพาะเรื่องของสุขอนามัย มหาวิทยาลัยราชภัฏจะต้องร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น อนาคตของประเทศไทยจึงอยู่ที่สถาบันอุดมศึกษาสร้างระบบสุขภาพ เป็นระบบการศึกษาที่พาชาติออกจากวิกฤติ เพื่อสุขภาวะของคนทั้งมวล” พญ.ชนิกา กล่าวสรุป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๔๗ เอ. เจ. พลาสท์ คว้า 2 รางวัลใหญ่ จาก SET Awards 2024 และได้รับการประเมิน CGR ดีเลิศ ระดับ 5 ดาว
๑๖:๑๓ เปิดมาตรการ พักหนี้ ลดดอกเบี้ย ช่วยเหลือ SMEs ถูกน้ำท่วมในงาน มันนี่ เอ็กซ์โป 2024 เชียงใหม่
๑๖:๓๙ หน้าหนาวมาเยือน! กรมอนามัยเตือนดูแลสุขภาพให้พร้อม เด็กเล็ก-ผู้สูงอายุเสี่ยงเจ็บป่วยง่าย
๑๖:๕๗ เปิดรันเวย์อวดผลงานไอเดียสร้างสรรค์ของ 5 ผู้ชนะรางวัลทุนการศึกษา จากโครงการ Jaspal Group Scholarship Program
๑๖:๐๘ กิฟฟารีน แนะนำไอเทมเด็ด กิฟฟารีน เอช เอ็ม บี พลัส วิตามินดี 3 สำหรับช่วยดูแลมวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
๑๕:๐๑ ไขข้อสงสัย สินเชื่อรถแลกเงินคืออะไร
๑๕:๓๘ ซื้อมอเตอร์ไซค์ ออกรถใหม่ มีขั้นตอนอย่างไร ต้องเตรียมอะไรบ้าง
๑๕:๐๕ ยางขอบ 17 ยี่ห้อไหนดีที่ขับขี่สนุก และยังคงนุ่มสบาย
๑๔:๕๖ heygoody คว้าแชมป์จากเวที Thailand Influencer Awards 2024 ตอกย้ำความเข้าใจลูกค้า Introvert
๑๔:๐๓ เมืองไทยประกันชีวิต คว้า 4 รางวัลใหญ่ระดับสากล ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล และเป็นองค์กรสถานประกอบการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการ