เผยตัวเลขเพื่อนบ้านเร่งผลิตแข่งเวียดนามตั้งเป้าหวังแซง
ดร. สุพัทธ์ พู่ผกา รองผู้อำนวยการ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า บริษัทซอฟต์แวร์ของไทยสามารถผ่านการประเมิน CMMI ขั้นที่ 3 เพิ่มขึ้นอีก 3 บริษัท คือ วีพีแอดวานซ์, ไออาร์ซีพี, ทีมเวิร์คโซลูชั่น ทำให้ประเทศไทยมีบริษัทที่ผ่านการประเมิน CMMI แล้ว 30 บริษัท โดยแบ่งเป็น ระดับ 2 จำนวน 9 บริษัท ระดับ 3 จำนวน 20 บริษัท และ ระดับ 5 จำนวน 1 บริษัท ซึ่งเป็นการผ่านจากการสนับสนุนจากโครงการ SPI@ease จำนวน 20 บริษัท หรือเกือบ 70% เลย โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า ในระยะเวลาเพียง 2 ปี
“บริษัทไทยกำลังเป็นที่จับตามองจากวงการซอฟต์แวร์โลก ขณะนี้เริ่มมีหลายบริษัทข้ามชาติสนใจติดต่อ Outsource งานให้กับบริษัทซอฟต์แวร์ไทยที่ผ่านการรับรอง CMMI บ้างแล้ว” ดร.สุพัทธ์กล่าว
จากการประกาศผลอย่างเป็นทางการล่าสุดจาก SEI ล่าสุดไทยมีบริษัทที่ผ่านการประเมิน CMMI จัดเป็นอันดับ 2 ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากมาเลเซีย ซึ่งมีทั้งสิ้น 56 บริษัท ขณะเดียวกันก็มีบริษัทซอฟต์แวร์ไทยและหน่วยงาน IT ใน Sector อื่นๆ ไม่น้อยกว่า 10 บริษัท ที่กำลังเตรียมความพร้อมเพื่อประเมิน CMMI และมีบริษัทที่เริ่มต้นทำ Software Process Improvement ในองค์กรโดยใช้ Personal Software Process หรือ CMMI level 5 ระดับบุคคล โดยเข้าร่วมโครงการ PSP Initiative จำนวน 100 คน จาก 30 องค์กร เพื่อสร้างรากฐานองค์กรให้เข้มแข็งพร้อมที่จะก้าวไปสู่มาตรฐาน CMMI ในปีหน้า
ทางโครงการคาดว่าภายในปี 2553 ไทยจะมีบริษัทที่ผ่านการประเมิน CMMI เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 40 บริษัท ส่งผลให้ตลาดโลกรับรู้ถึงศักยภาพในการผลิตซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพของประเทศไทย รวมถึงสร้างความน่าเชื่อถือ และสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยในตลาด Software Outsourcing ทั้งในและต่างประเทศมากขึ้นด้วย
ปัจจุบันการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ ทาง iTAP ได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับที่ปรึกษา 50% แต่ไม่เกิน 500,000 บาท โดยปีนี้ทาง iTAP ได้เพิ่มโครงการทางเลือกใหม่สำหรับบริษัทซอฟต์แวร์ขนาดเล็กโดยการประยุกต์ใช้ Agile Methodology ร่วมกับ CMMI ในการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาซอฟต์แวร์ นอกจาก CMMI แล้ว สวทช ก็ร่วมผลักดันมาตรฐานสากลอื่นๆ สำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์อีกด้วย ได้แก่ ISO 15504 (Software Process Improvement and Capability Determination) และ ISO 27001 (Information Security Management System หรือ ISMS) ซึ่งทาง iTAP ให้การสนับสนุนในเงื่อนไขเช่นเดียวกันคือ สนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับที่ปรึกษา 50% แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
ปัจจุบันประเทศในแถบเอเชียเองก็มีการพัฒนาทางด้านนี้แข่งขันกับไทยอย่างน่าจับตามองเช่นกัน ซึ่งภาครัฐของประเทศเหล่านี้ให้การสนับสนุนเร่งผลักดันบริษัทซอฟต์แวร์ให้ได้รับมาตรฐาน CMMI มากขึ้น เช่น เวียดนาม ตั้งเป้าหมายไว้ภายใน 4 ปี จะมีบริษัทที่ผ่าน CMMI มากกว่า 100 ราย, อินโดนีเซีย ตั้งเป้าหมายมากกว่า 20 ราย และมาเลเซีย เพิ่มขึ้นอีกเป็น 100 ราย
นอกจาก CMMI จะสร้างความน่าเชื่อถือในระดับประเทศ และตัวบริษัทเองแล้ว จากรายงานการสำรวจถึงประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับจากการทำ CMMI ล่าสุดประจำปี 2008 โดย DACs หรือ Data Analysis Center for Software, ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าได้สร้างผลตอบแทนการลงทุน หรือ ROI ให้กับบริษัทซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้น 3 เท่า เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพิ่มขึ้น 39% ค่าใช้จ่ายในโครงการ ลดลง 30% มี Cycle Time ลดลง 38% ค่าความเบี่ยงเบนจากแผนการดำเนินงานลดลง 40% ลดการทำงานซ้ำซ้อนลงถึง 60%ลดจำนวนความผิดพลาดลง 50% และจากผลสำรวจของบริษัทซอฟต์แวร์ในโครงการ SPI@ease พบว่าได้รับประโยชน์เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นด้วยเช่นกัน ได้แก่ การสื่อสารภายในองค์กรดีขึ้น การประมาณการแม่นยำมากขึ้น บริษัทได้รับความเชื่อถือจากลูกค้ามากขึ้น การสื่อสารกับลูกค้าดีขึ้น ลูกค้าพึงพอใจมากขึ้น ส่งผลให้การรับงานจากทั้งภายในและภายนอกประเทศมากขึ้น
“ประโยชน์ทั้งหมดของการนำ CMMI ไปใช้ในองค์กร น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า Process Improvement ไม่ว่าจะเป็น CMMI หรือมาตรฐานอื่นๆ เป็นการสร้างความเข้มแข็งจากภายในให้เกิดขึ้นในองค์กร และพัฒนาสายสัมพันธ์กับลูกค้าเก่าให้ดีขึ้น พร้อมโอกาสในการสร้างฐานลูกค้าใหม่ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญให้บริษัทซอฟต์แวร์ไทยฟันฝ่าอุปสรรคในวิกฤติเศรษฐกิจนี้ไปได้” ดร.สุพัทธ์กล่าวสรุป
ข้อมูลเพิ่มเติม
งานประชาสัมพันธ์ TMC โทร.0-2564-7000
www.tmc.nstda.or.th