แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่ต่ำกว่าประมาณการเนื่องจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่ชะลอตัว บริษัทเผชิญกับความท้าทายในการปรับปรุงผลกำไรจากการดำเนินงานในช่วงที่ อุปสงค์ลดต่ำลง การเพิ่มขึ้นของเรือใหม่ และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากบริษัทไม่สามารถฟื้นกำไรจากการดำเนินงานและสร้างความแข็งแกร่งด้านสภาพคล่องได้ อันดับเครดิตจะได้รับผลกระทบในทางลบหากบริษัทไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนเพื่อการจ่ายคืนตั๋วสัญญาใช้เงินที่จะครบกำหนดในเดือนมกราคม 2553 ได้ภายในเดือนตุลาคม 2552 นี้ ในขณะเดียวกันแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับกลับมาเป็น “Stable” หรือ “คงที่” หากบริษัทประสบความสำเร็จในการลดต้นทุนพร้อมกับมีอัตราส่วนกำไรอยู่ในระดับที่น่าพอใจและสามารถสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งเพื่อใช้ในการจ่ายคืนหนี้และการลงทุน
ทริสเรทติ้งรายงานว่าบริษัท อาร์ ซี แอลเป็นผู้ประกอบการกองเรือสินค้าขนาดเล็ก หรือเรือฟีดเดอร์ (Feeder Business) ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จากข้อมูลทางสถิติของการท่าเรือสิงคโปร์และตัวแทนในท้องถิ่นของบริษัท บริษัทมีส่วนแบ่งสูงที่สุดในตลาดเรือขนส่งสินค้าขนาดเล็กระหว่างท่าเรือย่อยกับเรือเดินสมุทรในเส้นทางสิงคโปร์กับฟิลิปปินส์ กับมาเลเซีย และกับไทย ทั้งนี้ เป็นผลมาจากความถี่ของการให้บริการต่อสัปดาห์และขนาดของกองเรือโดยเฉลี่ยที่มีขนาดใหญ่ซึ่งสามารถขนส่งสินค้าได้เป็นจำนวนมาก บริษัทยังเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการ 30 รายที่มีกองเรือขนาดใหญ่ที่สุด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปริมาณการค้าที่ลดลงส่งผลให้บริษัทต้องลดระวางบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ลงโดยการคืนเรือเช่าแก่ผู้ให้เช่าซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและเพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์ของกองเรือ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 บริษัทมีระวางบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ทั้งสิ้น 52,128 ตู้ (TEU) โดยมีเรือของตนเองจำนวน 34 ลำ และมีเรือเช่าระวาง 7 ลำ โดยที่ความจุระวางในการบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ของบริษัทลดลงประมาณ 8% จาก ณ สิ้นปี 2551 การที่บริษัทมีกองเรือขนาดใหญ่จึงทำให้ง่ายต่อการจัดตารางเวลาและความถี่ในการให้บริการมากกว่าผู้ประกอบการรายอื่นซึ่งมีกองเรือที่มีขนาดเล็กกว่า นอกจากนี้ การที่เรือส่วนใหญ่ของบริษัทยังมีอายุน้อยโดยเฉลี่ยที่ประมาณ 10 ปีจึงทำให้บริษัทได้ประโยชน์ในเรื่องของการประหยัดน้ำมันและมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาที่ต่ำ
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือมีลักษณะเป็นวงจรที่ขึ้นและลงเป็นอย่างมากซึ่งจะกินเวลารอบละประมาณ 5-6 ปี อุปสงค์ของธุรกิจการเดินเรือเกี่ยวเนื่องเป็นอย่างมากกับภาวะเศรษฐกิจและการค้า โดยที่ภาวะเศรษฐกิจโลกจะมีผลกระทบต่อธุรกิจกองเรือฟีดเดอร์ (SOC Business) ในขณะที่การค้าภายในภูมิภาคเอเซียเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อธุรกิจเรือบริการขนส่งตู้สินค้าประจำเส้นทาง (COC Business) ผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มปรากฏชัดในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 โดยที่ปริมาณการขนส่งของบริษัทเริ่มลดลง 2% ปริมาณการขนส่งสินค้าในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเนื่องจากปริมาณการขนส่งสินค้าของธุรกิจกองเรือฟีดเดอร์ลดลงอย่างมาก โดยลดลง 4% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 และ 31% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา การที่ภาวะเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศแถบเอเซียยังคงเข้มแข็งกว่าในสหรัฐอเมริกาและประเทศในทวีปยุโรปจึงส่งผลให้ปริมาณการขนส่งสินค้าของธุรกิจเรือบริการขนส่งตู้สินค้าประจำเส้นทางเพิ่มขึ้น 1% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 และลดลงเพียง 10% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
อัตราค่าระวางของการขนส่งสินค้าทางเรือโดยเฉลี่ยของบริษัทก็ปรับตัวลดลงเช่นกันจาก 208 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ในปี 2550 เป็น 201 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ในปี 2551 สำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2552 อัตราค่าระวางยังคงลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 180 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้จากผลของปริมาณการขนส่งสินค้าที่ชะลอตัวและอุปทานส่วนเกินของระวางการบรรทุกสินค้า โดยการขึ้นอัตราค่าระวางนั้นจะขึ้นอยู่กับความรวดเร็วของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ระวางการบรรทุกสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10% จากจำนวนเรือที่จะส่งมอบในช่วงปี 2553-2555 จะยังคงเป็นปัจจัยในการกดดันการขึ้นค่าระวาง ในปี 2551 รายได้รวมของบริษัทลดลง 1% สู่ระดับ 19,532 ล้านบาทเนื่องจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและอัตราค่าระวางที่ลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม รายได้รวมของบริษัทลดลงอย่างมากถึง 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สู่ระดับ 7,212 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 เนื่องจากการปรับตัวลดลงอย่างมากของปริมาณการขนส่งสินค้าและอัตราค่าระวาง กำไรจากการดำเนินงานต่อรายได้ (หลังปรับค่าเช่าดำเนินงาน) ลดลงจาก 17.0% ในปี 2550 มาเป็น 4.1% ในปี 2551 เนื่องจากอัตราค่าระวางที่ปรับลดลง ตลอดจนต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น และผลขาดทุนจากการทำสัญญาประกันการซื้อน้ำมัน แม้ว่าราคาน้ำมันในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 จะลดลงมากกว่า 43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่การปรับตัวลดลงอย่างมากของปริมาณการขนส่งสินค้าและอัตราค่าระวางได้ส่งผลให้บริษัทมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานต่อรายได้ที่ระดับ -13.9% ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้น โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นจาก 33.7% ในปี 2550 เป็น 44.7% ในปี 2551 และ 44.9% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 เนื่องจากบริษัทมีการกู้ยืมระยะยาวเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในการซื้อเรือใหม่ ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย (หลังปรับค่าเช่าดำเนินงาน) ลดลงจาก 7.5 เท่าในปี 2551 เป็นเพียง 0.1 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 จากการที่วงเงินสินเชื่อของบริษัทมีเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับผลประกอบการทางการเงินและหนี้สิน อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายและอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทจึงเกินกว่าระดับที่กำหนดมาตั้งแต่สิ้นเดือนมีนาคม 2552 อย่างไรก็ตาม บริษัทได้รับการผ่อนปรนที่จะไม่ต้องดำรงอัตราส่วนดังกล่าวจากเจ้าหนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 ไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2554
บริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) (RCL)
อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative (ลบ) จาก Stable (คงที่)